วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เทศกาลสารทไทย

          สารท เป็นการทำบุญกลางปีของไทยตรงกับ วันสิ้นเดือน ๑๐ หรือ วันแรม  ๑๕  ค่ำ  เดือน  ๑๐   ซึ่งมักจะตกราว ๆ ปลายเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม เป็นฤดูที่พืชพันธุ์ธัญชาติและผลไม้สุก ข้าวและต้นผลไม้ที่ปลูกไว้กำลังให้ผลเป็นครั้งแรกในฤดูนี้ 
          หนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือนได้กล่าวไว้ ว่า “ สารท ” ซึ่งเป็นนักขัตฤกษ์ ( งานรื่นเริงตามธรรมเนียมตามฤดูกาล ) เป็นที่นิยมของคนทั้งปวงทั่วไปว่าเป็นสมัยที่ได้ทำบุญ เมื่อปีเดือนวันคืนล่วงมาถึงกึ่งกลางรอบ ด้วยเหตุว่า เราถือเอากำหนด พระอาทิตย์ลงไปที่สุดทางใต้ กลับมาเหนือถึงกึ่งกลางปีเป็นต้นปี ครั้นเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นไปเหนือจนสุดทางจะกลับลงใต้ มาถึงกึ่งกลางก็เป็นพอบรรจบ กึ่งกลางปี  พูดง่ายๆก็คือ วันสารทไทย ถือเป็นวันทำบุญกลางปี ด้วยว่าสมัยก่อนเราถือเอาวันสงกรานต์ ซึ่งอยู่ในช่วงเดือนเมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ดังนั้นช่วงเดือนสิบ จึงตกราวกลางปีพอดี คนทั่วไปจึงนิยมทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต เสมือนเป็นการเตือนใจตัวเองว่า ชีวิตได้ดำเนินผ่านมาถึงกึ่งปีแล้ว ชีวิตข้างหน้าที่เหลือควรจะได้สร้างบุญกุศลไว้เพื่อความไม่ประมาท ซึ่งนอกจากการทำบุญดังกล่าวแล้ว ยังมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับอีกด้วย
          พระยาอนุมานราชธน ได้เขียนเล่าในหนังสือเทศกาลและประเพณีไทยว่า คำว่า “ สารท ” เป็นคำอินเดีย หมายถึง “ ฤดู ” ตรงกับฤดูในภาษาอังกฤษที่เรียกว่า “ ออตอม ” อันแปลว่า ฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งจะมีเฉพาะบางเขตของโลกอย่างยุโรป จีน และอินเดียตอนเหนือเท่านั้น ช่วงนั้นเป็นระยะที่พืชพันธุ์ธัญชาติและผลไม้เริ่มสุก และให้พืชผลครั้งแรกในฤดู ดังนั้น ประชาชนจึงรู้สึกยินดี และถือเป็นเทศกาลแห่งความรื่นเริง จึงมักทำพิธีตามความเชื่อและเลี้ยงดูกันอย่างที่เรียกว่า “Seasonal Festival” โดยบางแห่งก็จะมีการนำพืชผลที่เก็บเกี่ยวได้ครั้งแรกที่เรียกว่า “ ผลแรกได้ ” นี้ไปสังเวยหรือบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือ เพื่อความเป็นสิริมงคล และแสดงความเคารพที่ท่านช่วยบันดาลให้พืชพันธุ์ธัญหารอุดมสมบูรณ์จนเก็บเกี่ยวได้ เช่น พิธีปงคัล ในอินเดียตอนใต้ ที่มีพิธีต้มข้าวกับน้ำนมทำเป็นขนม เรียกว่า ข้าวทิพย์ข้าวปายาสถวายพระคเณศ เป็นต้น         

การทำบุญวันสารท

]

ความเป็นมา 
          สารทเดือนสิบ อันหมายถึง การทำบุญเดือนสิบ หรือ วันสารทไทย ของเรานั้น พระยาอนุมานราชธนได้สันนิษฐานว่า น่าจะนำมาจากคติของอินเดีย เกี่ยวกับความเชื่อเรื่อง ผลแรกได้ อย่างที่กล่าวข้างต้นเช่นกัน แต่ช่วงเก็บเกี่ยวข้าวในฤดูสารทหรือช่วงฤดูใบไม้ร่วงของบางประเทศที่ว่า จะตกอยู่ในราว ๆ เดือน ๑๐ ทางจันทรคติของไทย ซึ่งโดยความจริงข้าวของเราจะยังไม่สุก มีเพียงผลไม้บางชนิดเท่านั้นที่สุก ครั้นเรารับความเชื่อนี้มา จึงมีปรับเปลี่ยนใช้ข้าวเก่าทำเป็นข้าวเม่า ผสมกับถั่ว งาและสิ่งอื่นกลายเป็น ขนมกระยาสารท ขึ้นมา ซึ่งเมื่อแรกๆก็คงมีการนำไปสังเวยเทวดา และผีสางต่างๆตามความเชื่อดั้งเดิมด้วย ต่อมา เมื่อเรานับถือศาสนาพุทธ จึงได้เปลี่ยนมาเป็นการทำบุญถวายพระ และมักมีการกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับตามความเชื่อเดิมที่ว่าหากไม่ ได้ทำบุญตักบาตรกระยาสารท ผีปู่ย่าตายายจะได้รับความเดือนร้อนอดๆอยากๆ เท่ากับลูกหลานไม่กตัญญู นอกจากนี้ ระยะเวลาดังกล่าว ยังเป็น ช่วงกล้วยไข่สุกพอดี จึงมักถวายไปพร้อม ๆ กัน การทำบุญเดือนสิบนี้มีในหลายภูมิภาค เช่น ทางอีสาน เรียกว่า บุญข้าวสาก หรือสลากภัต เป็นหนึ่งในฮีตสิบสอง อันเป็นการทำบุญอุทิศให้ผู้ตายหรือเปรต โดยข้าวสากจะทำด้วยข้าวเม่า ข้าวพอง ข้าวตอกคลุกเข้ากันผสมกับน้ำตาล น้ำอ้อย ถั่ว งา มะพร้าวคล้ายๆกระยาสารทของภาคกลาง โดยมักจะทำราวกลางเดือนสิบ ห่างจากการทำบุญข้าวประดับดิน ที่ทำในช่วงสิ้นเดือน ๙
          พิธีสารทนอกจากเป็นประเพณีของชนชาวไทยทั่วไปแล้วในส่วนของพระมหากษัตริย์ที่เรียกว่าพิธีของหลวงนั้นในสมัยสุโขทัย มีในตำนานนางนพมาศว่า
          " ...ราชบุรุษชาวพนักงานตกแต่งโรงพิธีในพระราชนิเวศน์   ตั้งก้อนเส้าเตาเพลิงแลสัมภาระเครื่องใช้เบ็ดเสร็จ   นายนักการระหารหลวงก็เก็บเกี่ยวครรภสาลีและรวงข้าวมาตากตำเป็นข้าวเม่า   ข้าวตอกส่งต่อมณเฑียรวังเวรเครื่อง   นายพระโคก็รีดน้ำขีรารสมาส่งดุจเดียวกันครั้งได้ฤกษ์รับสั่งให้จ่าชาวเวรเครื่องทั้งมวลตกแต่งปรุงมธุปายาส ปรุงปนระดมเจือล้วนแต่โอชารส   มีขัณฑสกร  น้ำผึ้ง  น้ำอ้อย   น้ำตาล  นมสด  เป็นต้น   ใส่ลงในภาชนะซึ่งตั้งบนเตาเพลิงจึงให้สาวสำอางกวนมธุปายาสโดยสังเขป ชาวดุริยางค์ดนตรีก็ประโคมพิณพาทย์   ฆ้อง กลอง เล่นการมหรสพ   ระเบงระบำล้วนแต่นารี   แล้วพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยราชบริพารนำข้าวปายาส ไปถวายพระมหาเถรานุเถระ"
          ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็ได้สืบประเพณีพระราชพิธีสารทมาจัดทำ  เช่น  ในรัชกาลที่ ๑   มีพระราชพิธีสารทกวนข้าวทิพย์   รัชกาลต่อมาได้ทำบ้างงดบ้าง   จนถึงปีพุทธศักราช  ๒๔๗๐   ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว   รัชกาลที่ ๗ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีสารท 


ประเพณีสารทเดือนสิบ 
          ประเพณีสารทเดือนสิบ ที่รู้จักกันดี ก็คือที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีคติความเชื่อที่ว่า ในบรรดาญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว จะมีผู้มีบาปกรรมต้องได้รับโทษเป็นเปรตอยู่อบายภูมิ ปีหนึ่งๆยมบาลก็จะปล่อยให้กลับมาเยี่ยมลูกหลานเพื่อรับส่วนกุศลปีละครั้ง ในวันบุญสารท คือแรม ๑๔ และ ๑๕ ค่ำเดือน ๑๐ และเมื่อถึงวันขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ก็ต้องกลับไปรับโทษตามเดิม บรรดาผีเปรตเหล่านี้ หากไม่มีใครทำบุญให้ ตอนเดินทางกลับก็จะอดอยาก และก็จะสาปแช่งลูกหลานในตระกูลที่เพิกเฉยไม่ทำบุญให้ ดังนั้น จึงเกิดมีการทำบุญสารทดังกล่าวเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยในวันแรม ๑๔ ค่ำ จะมีการจัดหมฺรับ ( อ่านว่า หมับ หมายถึงสำรับ ) ในหมฺรับจะมีอาหารต่างๆ ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารแห้ง พร้อมขนม ๕ อย่างที่ถือว่าจะขาดไม่ได้คือ ขนมพอง คือหมายจะให้เป็นแพฟ่อง ล่อยลอยพาบรรพชนล่วงข้ามสังสารวัฏ ขนมลา ให้เป็นแพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม ขนมกง หรืองบางทีก็ใช้ ขนมไข่ปลาให้เป็นเครื่องประดับ ขนมบ้า ให้บรรพชนใช้เป็นลูกสะบ้าสำหรับเล่นรับสงกรานต์ และ ขนมดีซำ ให้เป็นเบี้ยไว้ใช้สอย สำรับดังกล่าวนี้ คนนครฯ มักตกแต่งเป็นรูปแบบต่างๆตามที่เห็นว่าสวยงาม แต่ต้องมียอดสูงแหลมไว้เสมอ
          การถวายหมฺรับหรือสำรับแด่พระสงฆ์ มักใช้วิธีจับสลากที่เรียกว่า “ สลากภัต ” นั่นเอง เมื่อถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ก็จะมีพิธียกหมฺรับตายาย คือ การนำอาหารไปไว้ตามใต้ต้นไม้หรือกำแพงวัดสำหรับผีไม่มีญาติ เมื่อพระสวดบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลเสร็จ เด็กๆหรือผู้ใหญ่ก็จะวิ่งกรูไปแย่งชิงอาหารในหมฺรับที่วางไว้ ด้วยเชื่อว่าอาหารเหล่านี้กินแล้วได้กุศลแรง พิธีนี้เรียกว่า “ ชิงเปรต ” ซึ่งต่อมาได้มีการจัดเป็นแถวรอรับเพื่อความเรียบร้อยและไม่ก่อให้เกิดทะเลาะวิวาทเนื่องจากการแย่งชิงกัน
          ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน   มีประเพณีการทำบุญในเดือน ๑๐ เหมือนกัน  คือ  ทำในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐   แต่แบ่งระยะเวลาของประเพณีการทำบุญออกไปเป็น ๒ ระยะ  ดังนี้
          ระยะแรก   ก่อนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐  ชาวบ้านจะเตรียมข้าวเม่าพอง  และข้าวตอก (บางแห่งเรียกดอกแตก) ขนมและอาหารหวานคาวอื่น ๆ เพื่อจะทำบุญในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ มาถึงโดยเฉพาะ ข้าวเม่าพอง กับข้าวตอกนั้น   จะคลุกให้เข้ากันแล้วใส่น้ำอ้อย น้ำตาล ถั่วงา   มะพร้าวให้เป็นข้าวสาก   ซึ่งตรงกับคนไทยภาคกลาง เรียกว่า  กระยาสารท   เมื่อเตรียมของทำบุญไว้เรียบร้อย   ก็จะเอาข้าวปลาอาหารไปส่งญาติพี่น้อง   เพื่อนฝูง   ถ้าหากบุคคลเหล่านั้นอยู่ห่างไกล ก็จะไปค้างคืน   นอกจากมอบของแล้วจะถือโอกาสเยี่ยมเยียนถามทุกข์สุขเป็นประเพณีที่เรียกว่า   ส่งเขาส่งเรา   ผลัดกันไปผลัดกันมา  เป็นการแลกเปลี่ยนกัน ส่วนข้าวสารหรือกระยาสารทนั้น   จะส่งก่อนวันทำบุญหรือในวันทำบุญก็ได้  เรียกว่า  ส่งข้าวสาก
          ระยะที่สอง   คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐   เวลาเช้าชาวบ้านไปทำบุญตักบาตรที่วัด   อุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้ว   แต่อาจมีบางคนอยู่วัดรักษาศีล ฟังเทศน์ก็ได้   ครั้นถึงเวลาใกล้เพล   ก็เตรียมภัตตาหารไปวัดอีกครั้งหนึ่ง   มีห่อข้าวน้อย  ห่อข้าวใหญ่   ข้าวสาก  และ อาหารอื่น ๆ บางแห่งอาจจัดของที่จะถวายเป็นกัณฑ์เทศน์ไปด้วย เมื่อถึงวัดแล้ว   ก็จะจัดภัตตาหารและของพี่จะถวายพระภิกษุถวายเสียก่อน   บางแห่งนิยมทำเป็นสลาก ชาวบ้านคนไหนจับสลากถูกชื่อพระภิกษุรูปใด   ก็ถวายรูปนั้น   ทำนองเดียวกับการทำบุญสลากภัต จึงเป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจว่า   การทำบุญข้าวสาก   ก็คือทำบุญด้วยวิธีถวายตามสลาก ส่วนห่อข้าวน้อย   ห่อข้าวใหญ่   ชาวบ้านแจกกันเอง ห่อข้าวน้อยนั้น เมื่อแจกแล้วก็แก้ห่อออกกินกันในวัดทีเดียว   ถือกันว่าเป็นการกินในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้   ส่วนห่อข้าวใหญ่เอากลับไปบ้านเก็บไว้ในเวลาต่อไป  เพราะอาหารในห่อนั้นเป็นพวกของแห้ง   เช่น ปลาแห้ง เนื้อแห้ง   ซึ่งสามารถเก็บไว้ได้เป็นเวลานาน ๆ ถือคติว่าเอาไปกินในปรโลก  ประเพณีแจกห่อข้าวน้อยและห่อข่าวใหญ่นี้ ปัจจุบันเกือบไม่มีแล้ว   จะจัดเพียงภัตตาหารไปถวายพระภิกษุพร้อมด้วยข้าวสากหรือถวายกระยาสารทเท่านั้น
          สำหรับข้าวสากที่จะนำไปแจกกันเหมือนกระยาสารทของคนไทยภาคกลางนั้นวิธีห่อผิดกับทางภาคกลาง เพราะห่อด้วยใบตองกลัดด้วยไม้กลัด   หัวท้ายมีรูปลักษณะคล้ายข้าวต้มมัด   แต่ตรงปลายทั้งสองข้างที่เรียกว่าสันตองไม่ต้องพับเข้ามา   ของที่ใส่ในห่อ  มีข้าวต้ม (ข้าวเหมือนแบบข้าวต้มผัด) ข้าวสาก   แกงเนื้อ  แกงปลา  หมาก   พลู  บุหรี่ ห่อแล้วเย็บติดกันเป็นคู่ ๆ เอาไปห้อยไว้ตามต้นไม้  รั้วบ้าน เมื่อห้อยไว้แล้วก็ตีกลองหรือโปง เป็นสัญญาณให้เปรตมาเอาไปและปล่อยทิ้งไว้ชั่วพักหนึ่งกะเวลาที่เปรตได้มารับเอาอาหารที่ห้อยไว้นั้นไปแล้ว ชาวบ้านก็แย่งกันชุลมุน   ใครแย่งเก่งก็ได้มากกว่าคนอื่น   เรียกว่า  แย่งเปรต ของที่แย่งเปรตไปได้นี้   ชาวบ้านจะเอาไปไว้ตามไร่นา  เพื่อเลี้ยงตาแฮก (ยักษินีหรือเทพารักษ์   รักษาไร่นาซึ่งเคยเลี้ยงมาเมื่อตอนเริ่มทำนาในเดือน  ๖   มาครั้งหนึ่งแล้ว)   นอกจากเลี้ยงตาแฮกแล้วก็เอาไปให้เด็กรับประทาน   เพราะถือว่าเด็กที่รับประทานแล้วจะอ้วนท้วนสมบูรณ์ไม่เจ็๋บไข้ได้ป่วย

ขนมที่นิยมทำในเทศกาลสารทไทย 
          ขนมที่นิยมทำกันในช่วงนี้ นอกจากกระยาสารทที่มักทำเฉพาะเทศกาลสารทแล้ว ก็ยังมี ข้าวยาคู ข้าวมธุปายาสและข้าวทิพย์ ซึ่งแม้จะเรียกต่างกัน แต่ปัจจุบันจะหมายรวมๆกันไป ทั้งที่โดยแท้จริงแล้ว เมื่อเริ่มแรกข้าวยาคู ข้าวมธุปายาส และข้าวทิพย์นั้นมีที่มาและกรรมวิธีทำที่ต่างกัน กล่าวคือ
          ข้าวยาคู มีตำนานเล่ามาว่ามีชาวนาพี่น้องสองคน คนโตชื่อว่ามหาการ น้องชื่อจุลการ มีไร่นา กว้างใหญ่ ในฤดูที่ข้าวตั้งท้องออกรวง คนน้องเห็นว่าควรจะนำข้าวนั้นมาทำอาหารถวายพระพุทธเจ้าผู้ทรงนามว่า วิปัสสี แต่พี่ชายไม่เห็นด้วยเพราะจะต้องเสียข้าวในนาจำนวนไม่น้อย น้องชายจึงแบ่งไร่นาและนำเมล็ดข้าวในสวนไร่นาของตนไปทำอาหารที่เรียกว่า ข้าวยาคูไปถวายพระวิปัสสีและอธิษฐานขอให้เกิดในบวรพระพุทธศาสนา ซึ่งภายหลังจุลการได้เกิดเป็นพระอัญญาโกณฑัญญะ สำหรับข้าวยาคูนี้จุลการได้ ข้าวสาลีที่กำลังท้องฉีกรวงข้าวอ่อนออกมา แล้วต้มในน้ำนมสด เจือด้วยเนยใส น้ำผึ้งและน้ำตาลกรวด
          ส่วน ข้าวมธุปายาส คือข้าวที่หุงเจือด้วยน้ำนม และน้ำผึ้ง มีตำนานเล่าว่า นางสุชาดา ลูกสาวเศรษฐีปรุงขึ้นเป็นอาหารไปแก้บน และได้เห็นพระพุทธเจ้า เมื่อเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ประทับใต้ต้นนิโครธ ( ต้นไทร ) ก็เข้าใจพระองค์เป็นเทพยดาจึงนำอาหารนั้นไปถวาย พระโพธิสัตว์จึงได้เสวยข้าวมธุปายาสเป็นอาหารมื้อสุดท้ายก่อนจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จึงมีความเชื่อกันว่า ข้าวมธุปายาส เป็นอาหารวิเศษ ผู้ใดมีวาสนาได้กินแล้ว จะมีร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัย อุดมด้วยสติปัญญา และเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
          สำหรับ ข้าวทิพย์ จะหมายถึง อาหารอันโอชะ ที่มีเครื่องปรุงถึง ๑๐๘ ชนิด ( หากทำแบบโบราณ ) แต่โดยหลักๆก็มี ๙ อย่าง คือ น้ำนมข้าว เนย น้ำอ้อย น้ำผึ้ง น้ำตาล นม ถั่ว งาและข้าวเม่า ซึ่งการกวนแต่ละครั้งก็ต้องประกอบพิธีกรรมหลายอย่าง เช่น ต้อง ใช้สาวพรหมจารีย์กวน ฟืนที่ใช้ต้องเป็นไม้ชัยพฤกษ์หรือไม้พุทราเท่านั้น ส่วนไฟก็ต้องเกิดจากแดดผ่านแว่นขยายที่เรียกว่า “ สุริยกานต์ ” เป็นต้น
          จากพิธีกรรมในการปรุงที่มีความพิเศษ ตลอดจนความเชื่อที่ว่าข้าวมธุปายาสหรือที่เรียกว่าข้าวทิพย์หรือข้าวยาคูนี้ เป็นข้าวศักดิ์สิทธิ์ที่จะทำให้ผู้กินพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ มีความสุขสวัสดี และเป็นมงคลแก่ชีวิตนี้เอง ข้าวนี้จึงมีชื่ออื่นๆเรียกอีกว่า เข้า ( ข้าว ) พระเจ้าหลวงบ้าง เข้า ( ข้าว ) บ่ทุกข์บ่ยากบ้าง เพราะถือว่ากินแล้วทำให้หายจากความทุกข์ยากลำบากต่างๆได้ ข้อสำคัญทำให้มีการ กวนข้าวทิพย์เป็นประเพณีในเทศกาลสำคัญ ๆ อื่น ๆ นอกเหนือไปจากการ งานพิธีพุทธาภิเษก เป็นต้น ซึ่งภาคใต้สมัยก่อนยังนิยมทำในงานบวชนาค และช่วงวันขึ้น ๑๓ - ๑๔ ค่ำเดือน ๓ ต่อเนื่องกับวันมาฆบูชาด้วยแต่มักจะเรียกกันว่า ข้าวยาคูมากกว่าข้าวมธุปายาส
          กล่าวโดยสรุป วันสารทไทย ก็คือ ประเพณีทำบุญกลางปีเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองที่มีชีวิตผ่านพ้นเวลามาได้ถึงกึ่งปี ในขณะเดียวกันก็ถือโอกาสทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพชนเพื่อแสดงความกตัญญูรู้คุณไปด้วย โดยขนมที่นิยมใช้ทำบุญในช่วงนี้ คือ กระยาสารท ข้าวยาคู หรือข้าวทิพย์หรือข้าวมธุปายาส นั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.culture.go.th/study.php?&YY=2549&MM=9&DD=1
http://intranet.m-culture.go.th/sakonnakhon/satthai.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น