วันพุธที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ประติมากรรมร่วมสมัย



          ประติมากรรมร่วมสมัย อยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๖ จนถึงรัชกาลปัจจุบัน  เป็นศิลปะที่มีผลสืบเนื่องมาจากความเจริญแบบตะวันตก  ที่หลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยทำให้เกิดแนวความคิดใหม่ ในการสร้างสรรค์ศิลปะเพื่อสาธารณะประโยชน์ นอกเหนือจากการสร้างเพื่อศาสนาอย่างเดียว
          สมัยรัชกาลที่  ๖  ศิลปะตะวันตกเข้ามาสู่ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย  และกำลังฝังรากลึกลงไปในสังคมและวัฒนธรรมไทย  การตกแต่งวังเจ้านายอาคารราชการ อาคารพาณิชย์  สวนสาธารณะและอาคารบ้านเรือนของคนสามัญ    เริ่มตกแต่งงานจิตรกรรมและงานประติมากรรมภาพเหมือนมากขึ้น งานประติมากรรมไทยที่ทำขึ้นเพื่อศาสนา เช่น  การสร้างศาสนสถาน ปั้นพระพุทธรูป ที่เคยกระทำกันมาก็ถึงจุดเสื่อมโทรมลง แม้จะมีการทำกันอยู่ก็เป็นระดับพื้นบ้านที่พยายามลอกเลียนสิ่งดีงามในยุคเก่าๆ   ที่ตนนิยม  ขาดอารมณ์ความรู้สึกทางการสร้างสรรค์   และไม่มีรูปลักษณะที่เป็นแบบแผนเฉพาะยุคสมัย
ศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี กำลังร่างรูปอนุสาวรีย์ในห้องทำงานส่วนตัวที่กรมศิลปากร
         พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหันมาส่งเสริมศิลปะการช่างสมัยใหม่โดยตั้งโรงเรียนเพาะช่างขึ้นเมื่อ  พ.ศ.  ๒๔๕๖ จัดสอนศิลปะการช่างทั้งแบบตะวันตกและแบบไทย การสร้างงานศิลปะระดับชาติได้จ้างฝรั่งมาออกแบบตกแต่งพระบรมมหาราชวังหรือพระที่นั่ง  ทรงเห็นความจำเป็นที่ต้องใช้ช่างทำรูปปั้นต่างๆ   เช่นเหรียญตรา และอนุสาวรีย์ ซึ่งช่างไทยยังไม่ชำนาญงานภาพเหมือนขนาดใหญ่  จึงสั่งช่างปั้นมาจากประเทศอิตาลี   ผู้ได้รับเลือกคือศาสตราจารย์คอราโด เฟโรจี เข้ารับราชการเป็นประติมากรกรมศิลปากร  กระทรวงวัง เมื่อวันที่  ๑๔ มกราคม ๒๔๖๖  ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์เฟโรจีเข้าไปปั้นพระบรมรูปของพระองค์โดยใกล้ชิดเป็นพระบรมรูปเท่าพระองค์จริง  ปัจจุบันประดิษ-ฐานในปราสาทพระเทพบิดร  นับเป็นงานภาพเหมือนที่สำคัญในรัชกาลนี้  ต่อมาศาสตราจารย์เฟโรจี  ได้โอนสัญชาติและเปลี่ยนชื่อเป็นไทยว่าศิลป พีระศรี   ท่านผู้นี้ต่อมามีความสำคัญต่อวงการศิลปกรรมไทยสมัยใหม่ทุกสาขาอย่างที่สุด
"ขลุ่ยทิพย์" ปั้นด้วยทองสำริด เขียน ยิ้มศิริ เป็นผู้ปั้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒ 
           รัชกาลที่ ๗ -  รัชกาลปัจจุบัน ระยะแรกศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี เป็นช่างปั้นที่สำคัญแต่ผู้เดียวในยุคนั้น   ได้ดำเนินการปั้นรูปอนุสาวรีย์พระปฐมบรมราชานุสรณ์เป็นภาพเหมือนขนาดใหญ่ ๓ เท่าคนจริงเป็นครั้งแรกในเมืองไทย  ส่งไปหล่อทองแดงที่ประเทศอิตาลี เสร็จทันมาติดตั้งที่เชิงสะพานพุทธยอดฟ้า เพื่อเปิดสะพานและฉลองกรุงครบ ๑๕๐ ปีเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕
          หลังจากการฉลองกรุงไม่กี่วันก็เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นในประเทศไทยโดยคณะทหารและพลเรือน  อำนาจการปกครองและการบริหารประเทศจึงไม่ตกอยู่กับพระมหากษัตริย์อีกต่อไป การสร้างงานศิลปกรรมซึ่งแต่เดิมอยู่ในความดูแลของราชสำนัก ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงส่งเสริมก็สิ้นสุดลง วิถีการดำเนินชีวิต  ความรู้สึกนึกคิดของประชาชนเปลี่ยนแปลงไป คณะรัฐบาลมุ่งพัฒนาประเทศทางด้านวัตถุมากกว่าการพัฒนาด้านจิตใจโดยเฉพาะทางศิลปะ  การสร้างงานศิลปกรรมยุคต่อมาล้วนต้องต่อสู้ดิ้นรนอยู่ในวงแคบๆ  แต่กระนั้นการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้สังคมเห็นคุณค่าในงานศิลปะยังดำเนินต่อไปโดยมีศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี  เป็นผู้นำ เพื่อทำให้ผู้นำประเทศและคนทั่วไปเห็นคุณค่า  ท่านต้องทำงานอย่างหนัก กล่าวคือ นอกจากงานปั้นอนุสาวรีย์ที่สำคัญแล้ว ท่านยังได้วางแนวทางการศึกษาศิลปะโดยหาทางจัดตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรมขึ้น  เมื่อ พ.ศ.  ๒๔๗๗  ซึ่งต่อมาขยายตัวขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร  เมื่อ  พ.ศ. ๒๔๘๖จัดให้มีการเรียนการสอนทั้งด้านจิตรกรรมและประติมากรรม  ซึ่งการศึกษาและการสร้างงานประติมากรรมต่อมาเปลี่ยนไปตามการพัฒนาวัฒนธรรมของสังคมที่ต้องการพึ่งพาพลังงานใหม่ๆ  ภายใต้อิทธิพลทางวิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจการเมืองและอื่นๆ  ซึ่งเป็นการก้าวหน้าแห่งยุคโดยเฉพาะในรัชกาลปัจจุบัน  การสื่อสารและการคมนาคมเป็นไปอย่างรวดเร็วทั่วถึงเกือบทุกมุมโลกมีลัทธิทางศิลปะเกิดขึ้นมากมายทั้งในยุโรป และสหรัฐอเมริกา และได้แพร่หลายเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยด้วย  ประติมากรรมจึงเข้าสู่รูปแบบของศิลปะร่วมสมัย    เป็นการแสดงออกทางด้านการสร้างสรรค์ที่มีอิสระทั้งความคิด  เนื้อหาสาระและเทคนิคการสร้างงาน สุดแต่ศิลปินจะใฝ่หางานศิลปะที่แสดงออกมานั้นจึงเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่สะท้อนถึงเอกลักษณ์ใหม่ของวัฒนธรรม-ไทยอีกรูปแบบหนึ่ง


ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก  http://www.thaigoodview.com/node/72286?page=0%2C3

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น