ชาวบ้านปากมูน ดึงสื่อพื้นบ้าน กระตุ้นสำนึกคนรุ่นใหม่หันมาสนใจศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น วิถีทำกินประมงแม่น้ำมูน
'การละเล่นพื้นบ้าน' มิใช่เป็นแค่เพียงความบันเทิงราคาย่อมเยาว์ ในแต่ละท้องถิ่นเท่านั้น หากการสืบสานการละเล่นพื้นบ้าน ยังช่วยดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ ของแต่ละภูมิภาค ตลอดจนสามารถนำมาใช้เป็น 'เครื่องมือ' ในการบอกเล่าความคิด หรือแม้แต่ความหวังของคนในพื้นที่
ดังนั้นสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล และกลุ่มดินสอสี จึงได้จัดทำโครงการ 'สื่อพื้นบ้านสานสุข' เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกให้เยาวชนรุ่นใหม่หันกลับมาสนใจศิลปวัฒนธรรมอันเป็นรากเหง้าของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่บรรพบุรษได้คิดค้นไว้ให้
เมื่อเร็วๆ นี้จึงได้มีการจัดกิจกรรมขึ้นที่ชุมชนเล็กๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นการรวมการแสดงศิลปะวัฒธรรมพื้นบ้าน 7 โครงการ รวม 100 กว่าชีวิตเข้าด้วยกัน จากทั้งหมด 28 โครงการทั่วประเทศ ไล่มาตั้งแต่ โปงลางหมอลำ เพลงโคราชจากโคราช กันตรึมจากสุรินทร์ บักตื้อ (ตะลุงอีสาน) จากมหาสารคาม หมอลำ รำโส้ทั่งบั้งนครพนม และการนำจิตรกรรมฝาผนังอีสานที่อยู่ในโบสถ์เก่ามาทำเป็นงานศิลปะ เพื่อให้เด็กและผู้คนทั่วไปรู้จัก
เขื่อนมา ปลา (ก็) หมด
สำหรับชุมชนบ้านค้อใต้ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานีอันเป็นสถานที่จัดงานในครั้งนี้ มีความพิเศษอยู่หลายอย่างคือ มีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง ชาวบ้านสามัคคี และไม่มีแหล่งมั่วสุมยาเสพติดในชุมชน
ที่สำคัญหมู่บ้านนี้ยังมีบทบาทในเรื่องของการคัดค้านเขื่อนปากมูนตั้งแต่แรกเริ่ม เพราะได้ผลกระทบอย่างแรงจากการสร้างเขื่อนนี้ และกลายมาเป็นประเด็นหลักในการเลือกจัดงานที่นี่ของทางสสส. เพราะต้องการสื่อไปยังภาครัฐและหน่วยงานท้องถิ่นว่า กิจกรรมที่ดูเล็กๆ เหมือนไม่มีพลังเช่นนี้ กำลังจะถูกทำให้ขยายออกไปด้วยสื่อหลากแขนงสาขาที่มาร่วมช่วยกัน
เพราะถึงแม้ว่าผลกระทบที่เกิดจากการสร้างเขื่อนได้รับการหยิบยกมานำเสนอผ่านสื่ออยู่หลายสิบปี แต่ปัญหายังไม่เคยได้รับการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ทำให้ชุมชนที่เคยได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวมตัวของพรานปลา ทั้งชีวิตแค่ลงแม่น้ำมูนหาปลาอย่างเดียวก็สามารถเลี้ยงครอบครัวได้อย่างสบาย แต่วันนี้ภาพที่เคยมีได้กลายเป็นเพียงความทรงจำ
"ชุมชนเราเป็นหมู่บ้านที่หาปลาเป็นอาชีพตั้งแต่ครั้งปู่ทวด ผมเกิดมาก็เจอกับแม่น้ำหาปลามาทั้งชีวิต อยู่กันอย่างสงบสุข ตกเย็นก็มีการเล่นร้องหมอลำกันตามบ้านพี่น้อง ไม่ต้องจากบ้านไปไหนไกล อยู่กันพร้อมหน้า พอมีข่าวว่าจะสร้างเขื่อนเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ทางการก็มาบอกว่าจะสร้างนะ แต่เป็นแค่จดหมายเวียนมาเฉยๆ ชาวบ้านความรู้น้อย เราก็ไม่รู้หรอกว่าจะมีผลอย่างไร" พ่อทองปน ไชยคำ อบต.บ้านค้อใต้ ผู้มีประวัติการต่อสู้ร่วมกับชาวบ้านอันยาวนานกับภาครัฐเล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งอดีต
ผลที่ตามมาคือ ริมฝั่งแม่น้ำที่เคยปลูกผักทุกอย่างที่กินได้ ไม่ต้องซื้อหาด้วยเงินตรา เอาปลาไปแลกข้าวแลกเกลือต่างถิ่น เกิดสัมพันธภาพทางไมตรีแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมท้องถิ่น เหล่านี้ได้หมดไปพร้อมกับการที่ประเทศไทยได้ 'เขื่อนปากมูน' มาชื่นชม
เขื่อนเป็นประโยชน์ของคนทั้งชาติ ประโยชน์ของส่วนรวม นั่นคือข้อเท็จจริง แต่บ้านค้อใต้เป็นแหล่งไม่เอื้อต่อการเพาะปลูก เพราะไม่มีแหล่งน้ำเนื่องจากเป็นที่สูง การปลูกข้าวต้องรอฝนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อปลาหาไม่ได้เพราะมีเขื่อนกั้นน้ำ วิถีชีวิตเริ่มไม่มีทิศทาง จากไม่เคยต้องไปรับจ้างใช้แรงกาย จำต้องจากบ้านพลัดถิ่น ความสัมพันธ์เริ่มขาดหายทั้งในครอบครัวและภายในชุมชน ทุกชีวิตต้องดิ้นรนหนักว่าเดิมหลายเท่า เด็กผู้หญิงโดนกระทบมากที่สุด เพราะอยากได้งานทำ จึงโดนหลอกไปขายตัว
"เมื่อเริ่มสร้าง ความเปลี่ยนแปลงบางอย่างจึงเกิดขึ้น ปลานี่หาไม่ได้เลย จนต้องรวมตัวกันเรียกร้องจากรัฐบาล เขาก็เข้ามาดูแล้วตีราคาชดใช้ให้เมื่อปี 2537 บางคนอาจได้หลายร้อย หรือหลายพันขึ้นอยู่พื้นที่หากินของเรา นั่นเป็นจุดเรียกร้องอย่างจริงจังขึ้น รัฐบาลยอมเปลี่ยนค่าชดเชยเพิ่มให้ แต่มันก็ไม่ได้ช่วยให้เราอย่างยั่งยืน จนต้องไปร้องเรียนที่กรุงเทพฯ" พ่อทองปอนเล่า
ความกดดันรอบด้านส่งผลให้ชาวบ้านรวมกลุ่มประท้วงเรียกร้องความเสียหายจากภาครัฐ แต่ผลที่ได้รับคือความสูญเสียรายได้และโอกาสทำกินไปเรื่อยๆ ซ้ำยังเริ่มมีความขัดแย้งกันเองระหว่างชาวบ้านเพราะมีผลประโยชน์เข้ามาแทรกแซงเพื่อต้องการให้เกิดแตกแยก
จากนั้นเป็นต้นมา ชุมชนแห่งนี้ก็ได้เดินทางไปร่วมคัดค้านที่หน้าทำเนียบ ซึ่งใช้เวลาอยู่หลายปี ใครที่ไม่ได้ไปก็คอยส่งน้ำส่งข้าวไป จนสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนเริ่มแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด เด็กในหมู่บ้านขาดหางเสือที่ดี เริ่มจับกลุ่มเสพยา มั่วสุมการพนัน ชาวบ้านก็เริ่มทะเลาะกันเอง
"ความคิดผมในตอนนั้นมันสับสนมาก ว่าเรากำลังทำอะไรกันอยู่ หมู่บ้านเราที่เคยสงบกลับต้องมาเป็นอย่างนี้ เราประท้วงมาเป็นสิบปี แต่ไม่มีอะไรดีขึ้น ทุกอย่างกลับแย่ลง มันเจ็บปวดนะ จึงคิดว่ากลับมาบ้านดีกว่า มาเริ่มต้นใหม่ ตอนนั้นมีหลายคนไม่เข้าใจ นึกว่าผมไปรับเงินเขามาถึงได้เลิก ผมกลับมานั่งคิดหาทางฟื้นฟูชุมชนหลายวิธี ทั้งปลูกป่า ทั้งการกลับมาลองหาปลาแบบดั้งเดิม และฟื้นฟูการร้องหมอลำต่อเพลงให้เด็กๆ มีกิจกรรมทำไม่ให้ไปมั่วสุมกัน"
ด้วยความคิดของคนที่จบ ป.4 อย่าง พ่อทองปน สร้างความประหลาดใจและการยอมรับจากชาวบ้านในเวลาต่อมา ใครจะคิดว่าการปลูกป่าในชุมชนจะเป็นทรัพย์สมบัติที่กินไม่หมดจนถึงวันนี้ หรือใครจะคิกว่าการหันมาให้ความสนใจกับการร้องรำทำเพลงอย่างหมอลำ จะช่วยให้เยาวชนไม่หันติดยา
"ความคิดของผมก็คือ เราต้องหาแหล่งทำกินอย่างอื่นมาทดแทนการหาปลา ป่าคือแหล่งของกินทุกอย่าง ทั้งเห็ด หน่อไม้ ผักต่างๆ และการเอาเครื่องมือจับปลาที่เคยเลิกไปเมื่อมีเขื่อน กลับมาลองใช้ใหม่เพราะทางเขื่อนได้ยอมเปิดประตูตามที่เราร้องขอ แต่เปิดเป็นช่วงแค่ 4 เดือนเท่านั้น ก็พอจะหาปลาไว้หาเลี้ยงชีพได้บ้าง
"ส่วนเรื่องการร้องลำ เป่าแคนนี่มันก็คือของที่เรายังพอมีอยู่ มีคนเก่งอยู่ก็เลยลองตั้งกลุ่มฝึกให้เด็กๆ ได้ลองมาฝึกร้องหัดลำ มันก็ได้ผลหลายทาง เด็กๆ รักกัน ทำให้ผู้ใหญ่ในชุมชนได้กลับมาสนิทสนมกันเหมือนเดิม ยาเสพติดก็หายไป"
สื้อพื้นบ้าน : พลังแห่งการต่อรอง
จากแนวคิดและการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมของชุมชนบ้านค้อใต้ ประจวบเหมาะสอดคล้องกับแนวคิดของหน่วยงาน สสส.และสถาบันวิจัยภาษาฯ ที่ได้มีโครงการสนับสนุนสื่อศิลปะพื้นบ้านอยู่แล้วตามชุมชนต่างๆ จึงนำมาซึ่งการทำกิจกรรมร่วมกันในครั้งนี้
รศ.ดวงพร คำนูณวัฒน์ ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนฝ่ายวิชาการ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ในตอนแรกชุมชนต่อต้านมาก คิดว่าหน่วยงานรัฐจะเข้ามาครอบงำหรือมาหลอกลวง แต่ตอนนี้สถานการณ์ก็ดีขึ้นมากแล้ว
"ที่เกิดงานวันนี้ได้เพราะแต่ละท้องถิ่นมีการทำกิจกรรมของตัวเองอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่เคยมารวมกันเช่นนี้ แต่เมื่อมารวมกันต่างฝ่ายก็จะได้เห็นความพิเศษของอีกฝ่ายก็ เกิดความภูมิใจในศิลปะท้องถิ่นของตัวเอง อยากพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไป วันนี้เราได้เห็นแล้วว่ามันมีพลังที่ยิ่งใหญ่ เสียงก็ดังขึ้น สามารถทำให้ภาครัฐหันมาสนใจพวกเขาได้
“นี่คือพลังแห่งการต่อรองในรูปแบบใหม่ที่ไม่ต้องไปรวมกลุ่มประท้วง ทำให้สูญเสียโอกาสและเวลาในการทำกินเข้าไปอีก แต่นำพลังเหล่านั้นมาสร้างสรรค์ ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ประเทศชาติได้ประโยชน์ ที่สำคัญมากคือเยาวชนของชาติได้มีพื้นที่ในการแสดงความสามารถ ผู้ใหญ่ให้ความสนใจ ให้การยอมรับ ปัญหาสังคมก็จะน้อยลง อย่าดูถูกศิลปวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาในท้องถิ่นของเรา เพราะในเมื่อเรามีพลังอยู่ในมือ เราก็สามารถสร้างสรรค์เปลี่ยนแปลงชุมชนไปในทางที่ดีได้ด้วยสื่อพื้นบ้านเหล่านี้"
แม้บรรยากาศการแสดงในวันนั้นอาจจะแปลกแปร่งไปบ้างด้วยฝีมือและความเชี่ยวชาญที่ไม่มากพอของเด็กน้อย แต่ก็เรียกเสียงหัวเราะจากชาวบ้านและผู้อยู่ในงานได้อย่างมาก ความรู้สึกหนึ่งที่เกิดขึ้นในคืนวันนั้นคือความอบอุ่นใจอย่างประหลาด เพราะเสียงหัวเราะของเด็กน้อย ชาวบ้าน และคนต่างถิ่นที่เปล่งออกมาช่างใสซื่อเสียเหลือเกิน
ใครที่ยังนึกภาพไม่ออกว่าเป็นอย่างไร ข่าวดีก็คือ ทาง สสส.กำลังวางแผนนำเอาสื่อพื้นบ้าน 28 โครงการทั่วทุกภาคของประเทศบุกกรุงเทพฯ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ เพื่อให้คนเมืองได้รับรู้ถึงพลังสื่อท้องถิ่นที่แข็งแกร่งไม่แพ้สื่อเทคโนโลยีที่ไหน
ที่มา: สำนักข่าวเนชั่น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น