ประเพณีตานก๋วยสลาก เป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลได้มีการปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงรุ่นคุณปู่-ย่า /ตา-ยาย/พ่อ-แม่ และลูกหลานในปัจจุบัน เรื่องมีอยู่ว่ามีนางยักษิณีตนหนึ่งมักจะเบียดเบียน ผู้คนอยู่เสมอ ครั้นได้ฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว นางก็บังเกิดความเลื่อมใสศรัทธานิสัยใจคอที่โหดร้ายก็กลับเป็นผู้เอื้ออารี แก่คนทั่วไปจนผู้คนต่างพากันซาบซึ้งในมิตรไมตรีของนางยักษิณีตนนั้น ถึงกับนำสิ่งของมาแบ่งปันให้ แต่เนื่องจากสิ่งของที่ได้รับมีจำนวนมาก นางยักษิณีจึงนำสิ่งของเหล่านั้นมาทำเป็นสลากภัต แล้วให้พระสงฆ์ /สามเณร จับสลากด้วยหลักอุปโลกนกรรม คือสิ่งของที่ถวาย มีทั้งของของมีราคามากและมีราคาน้อยแตกต่างกันไป ตามแต่โชคของผู้ได้รับ การถวายแบบจับสลากของนางยักษิณีจึงนับเป็นครั้งแรกของประเพณีทำบุญสลากภัตในพุทธศาสนา [ตานก๋วยสลาก/ตานสลาก/ กิ๋นข้าวสลาก/กิ๋นก๋วยสลากหรือกิ๋นสลาก] ล้วนแล้วแต่เป็นภาษาของชาวถิ่นล้านนา ที่มักมีการเรียกขานแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น แต่ความหมายนั้นเหมือนกันโดยหลักการอาจจะแตกต่างกันไปบ้าง ในเรื่องของรายละเอียดถ้าเป็นภาษาไทยกลางเรียกว่า "สลากภัต" ประเพณี "ตานก๋วยสลาก" หรือ "สลากภัต" ของชาวล้านนานิยมปฏิบัติกันตั้งแต่เดือน ๑๒ เหนือถึงเดือนยี่เหนือหรือตั้งแต่เดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี สาเหตุที่ถือปฏิบัติกันเช่นนี้ก็เพราะว่า เป็นช่วงที่ชาวบ้านได้ทำนากันเสร็จแล้ว หยุดพักผ่อน พระสงฆ์ก็จำพรรษาอยู่วัดไม่ได้ไปไหนและบวกกับในช่วงเวลานี้ก็มีผลไม้สุก เช่น ลำไย มะไฟ สมโอ เป็นต้นเมื่อต้นข้าวในนาเริ่มเขียวขจีชาวนาที่มีฐานะไม่ค่อยดีการดำรงชีวิตก็เริ่มขัดสนเมื่อข้าวในยุ้งก็หมดก่อนฤดูกาล เก็บเกี่ยวจะมาถึง ดังนั้นการตานก๋วยสลากในช่วงนี้จึงเท่ากับว่าได้สงเคราะห์คนยากคนจนเป็นสังฆทานได้กุศลแรง ก่อนจะถึงวันตานก๋วยสลาก 1 วันเขาเรียก "วันดา" หรือ "วันสุกดิบ"วันนี้จะเป็นวันที่ชาวบ้านได้จัดเตรียมข้าวของ ไม่ว่าจะเป็นของกินหรือของใช้ต่างๆ สำหรับที่จะนำมาจัดดาใส่ก๋วยสลากและวันนี้มักจะมีญาติสนิทมิตรสหาย ที่อยู่ต่างบ้านมาร่วมจัดดาสลากด้วย ซึ่งถือเป็นประเพณีที่จะได้ทำบุญร่วมกันผู้ชายจะเป็นคนสานก๋วยสลาก (ตะกร้า) สำหรับที่จะบรรจุใส่ของกินของใช้ต่างๆก๋วยจะกรุด้วยใบตอง/หรือตองจี๋กุ๊กเมื่อรวบปากก๋วยมัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีไม้ไผ่เหลาเป็นก้านเล็กๆ สำหรับเสียบสตางค์/กล่องไม้ขีดไฟ/บุหรี่ เพื่อทำเป็นยอดก๋วยสลากจะมากน้อยบ้าง ตามแก่กำลังศรัทธาและฐานะ ก๋วยสลากจะมีอยู่ ๒ ลักษณะ ๑. ก๋วยน้อย เป็นก๋วยสลากสำหรับที่จะถวายทานไปให้กับผู้ที่ล่วงลับ ซึ่งไม่เพียงแต่ญาติน้องเท่านั้นอาจจะเป็นเพื่อนสนิท มิตรสหายก็ได้ หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงที่เราเคยรักและมีคุณต่อเราเมื่อครั้งยังมีชีวิตเช่น ช้าง ม้า วัว ควายและสุนัข เป็นต้น หรือถ้าไม่รู้ว่าจะถวายทานไปให้ใครก็ถวายทานเอาไว้ภายหน้า ๒. ก๋วยใหญ่ เป็นก๋วยที่จัดทำขึ้นใหญ่เป็นพิเศษซึ่งจะบรรจุข้าวของได้มากขึ้น ถวายเป็นมหากุศลสำหรับคนที่มีกำลังศรัทธา และฐานะดี เป็นปัจจัยนับว่าได้กุศลแรง สลากที่มักจัดทำขึ้นเป็นพิเศษอีกอย่างหนึ่งก็คือ " สลากโชค" มักจะเป็นสลากของผู้ที่มีฐานะดีระดับเศรษฐี (บางคน) ที่ต้องการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้กับบิดามารดาหรือญาติผู้ใหญ่ที่ได้ล่วงลับอันเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูรู้คุณคน " สลากโชค" มักทำเป็นต้นสลากที่สูงใหญ่สำหรับที่จะนำเอาวัตถุสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆผูกมัดติดกับต้นสลากเช่น ผ้าห่ม ที่นอน หมอน หม้อนึ่ง ไหข้าว หม้อแกง ถ้วย ชาม ช้อน ร่ม เครื่องนุ่งห่ม อาหาร แห้งต่างๆ และเงินที่เป็นธนบัตรชนิดต่างๆ ต้นสลากจะมีการประดับตกแต่งให้สวยงามกว่าสลากธรรมดา ก่อนที่จะนำเอาก๋วยสลากไปรวมกันที่วัด ต้องเขียนเส้นสลากเสียก่อน ตัวอย่างเช่น "ศรัทธาหมายมีนายอดุมทรัพย์ นางสำรวย ถวายตานไปหาพ่ออุ้ยทองแม่อุ้ยคำ ผู้ล่วงลับ ขอหื้อไปรอด ไปเถิงจิ่มเต่อ" เป็นต้น ในสมัยก่อนนั้นจะนำเอาใบลานมาทำเป็นเส้นสลาก แต่ปัจจุบันจะเขียนลงบนแผ่นกระดาษ เมื่อนำเอาก๋วยสลากไปรวมกัน ไว้ที่วัดแล้วเส้นสลากก็จะถูกนำไปกองรวมกัน ไว้ในวิหารหน้าพระประธานเมื่อเสร็จพิธีกรรมทางศาสนาแล้วเส้นสลากจะถูกนำมา แบ่งสันปันส่วนกันไปในหมู่ของพระสงฆ์ที่ได้นิมนต์มาจากวัดต่างๆ รูปละ ๕ เส้น ๑๐ เส้นบ้างแล้วแต่กรณี ส่วนหนึ่งจะถูกแบ่งให้วัดที่เป็นเจ้าภาพก่อนจะถึงเวลาเพล พระสงฆ์ก็จะนำเอาเส้นสลากไปอ่าน โดยเริ่มจากเจ้าอาวาสก่อนจะมีการเรียกชื่อหาเจ้าของสลากนั้นๆ ว่านั่งอยู่ที่ใด เมื่อพบแล้วจะมีการให้ศีล ให้พรมีการหยาดน้ำอุทิศ ส่วนบุญกุศลไปให้กับผู้ที่ล่วงลับเป็นเสร็จพิธี ขอบคุณข้อมูลดีๆๆจาก http://www.med.cmu.ac.th/secret/admin/web/custom5_8.html |
วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2555
ประเพณีตานก๋วยสลาก
ป้ายกำกับ:
ประเพณีตานก๋วยสลาก
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น