จังหวัด นครศรีธรรมราช |
ช่วงเวลา วัันลากพระ จะทำกันในวันออกพรรษา คือวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ โดยตกลงนัดหมายลากพระไปยังจุดศูนย์รวม วันรุ่งขึ้น แรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๑ จึงลากพระกลับวัด ความสำคัญ เป็นประเพณีทำบุญในวันออกพรรษา ปฏิบัติตามความเชื่อว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดพระมารดา เมื่อครบพรรษาจึงเสด็จกลับมายังโลกมนุษย์ พุทธศาสนิกชนไปรับเสด็จ แล้วอัญเชิญพระพุทธเจ้าประทับบนบุษบกแล้วแห่แหน พิธีกรรม ๑. การแต่งนมพระ นมพระ หมายถึงพนมพระเป็นพาหนะที่ใช้บรรทุกพระลาก นิยมทำ ๒ แบบ คือ ลากพระทางบก เรียกว่า นมพระ ลากพระทางน้ำ เรียกว่า "เรือพระ" นมพระสร้างเป็นร้านม้า มีไม้สองท่อนรองรับข้างล่าง ทำเป็นรูปพญานาค มีล้อ ๔ ล้ออยู่ใต้ตัวพญานาค ร้านม้าใช้ไม้ไผ่สานทำฝาผนัง ตกแต่งลวดลายระบายสีสวย รอบ ๆ ประดับด้วยผ้าแพรสี ธงริ้ว ธงสามชาย ธงราว ธงยืนห้อยระยาง ประดับต้นกล้วย ต้นอ้อย ทางมะพร้าว ดอกไม้สดทำอุบะห้อยระย้า มีต้มห่อด้วยใบพ้อแขวนหน้านมพระ ตัวพญานาคประดับกระจกแวววาวสีสวย ข้าง ๆ นมพระแขวนโพน กลอง ระฆัง ฆ้อง ด้านหลังนมพระวางเก้าอี้ เป็นที่นั่งของพระสงฆ์ ยอดนมอยู่บนสุดของนมพระ ได้รับการแต่งอย่างบรรจงดูแลเป็นพิเศษ เพราะความสง่าได้สัดส่วนของนมพระขึ้นอยู่กับยอดนม ๒. การอัญเชิญพระลากขึ้นประดิษฐานบนนมพระ พระลาก คือพระพุทธรูปยืน แต่ที่นิยมคือ พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร เมื่อถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ พุทธบริษัทจะสรงน้ำพระลากเปลี่ยนจีวร แล้วอัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนนมพระ แล้วพระสงฆ์จะเทศนาเรื่องการเสด็จไปดาวดึงส์ของพระพุทธเจ้า ตอนเช้ามืดในวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ชาวบ้านจะมาตักบาตรหน้านมพระ เรียกว่า ตักบาตรหน้าล้อ เสร็จแล้วจึงอัญเชิญพระลากขึ้นประดิษฐานบนนมพระ ในตอนนี้บางวัดจะทำพิธีทางไสยศาสตร์เพื่อให้การลากพระราบรื่น ปลอดภัย ๓. การลากพระ ใช้เชือกแบ่งผูกเป็น ๒ สาย เป็นสายผู้หญิงและสายผู้ชาย โดยใช้โพน (ปืด) ฆ้อง ระฆัง เป็นเครื่องตีให้จังหวะเร้าใจในการลากพระ คนลากจะเบียดเสียดกันสนุกสนานและประสานเสียงร้องบทลากพระเพื่อผ่อนแรง ตัวอย่าง บทร้องที่ใช้ลากพระสร้อย : อี้สาระพา เฮโล เฮโล ไอ้ไหรกลมกลม หัวนมสาวสาว ไอ้ไหรยาวยาว สาวสาวชอบใจ สาระ ประเพณีลากพระ เป็นการแสดงออกถึงความพร้อมเพรียง สามัคคีพร้อมใจกันในการทำบุญทำทาน จึงให้สาระและความสำคัญดังนี้ ๑. ชาวบ้านเชื่อว่า อานิสงส์ในการลากพระ จะทำให้ฝนตกตามฤดูกาล เกิดคติความเชื่อว่า "เมื่อพระหลบหลัง ฝนจะตกหนัก" นมพระจึงสร้างสัญลักษณ์พญานาค เพราะเชื่อว่าให้น้ำ การลากพระจึงสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนในสังคมเกษตร ๒. เป็นประเพณีที่ปฏิบัติตามความเชื่อว่า ใครได้ลากพระทุกปี จะได้บุญมาก ส่งผลให้พบความสำเร็จในชีวิต ดังนั้นเมื่อนมพระลากผ่านหน้าบ้านของใคร คนที่อยู่ในบ้านจะออกมาช่วยลากพระ และคนบ้านอื่นจะมารับทอดลากพระต่ออย่างไม่ขาดสาย ๓. เกิดแรงบันดาลใจ แต่งบทร้อยกรองสำหรับขับร้องในขณะที่ช่วยกันลากพระ ซึ่งมักจะเป็นบทกลอนสั้น ๆ ตลก ขบขัน และโต้ตอบกัน ได้ฝึกทั้งปัญญาและปฏิภาณไหวพริบ ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก http://personal.swu.ac.th/students/hm471010130/web/page19.htm |
ไทย ไทย วัฒนธรรม
วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2555
ประเพณีลากพระ
ประเพณีตานก๋วยสลาก
ประเพณีตานก๋วยสลาก เป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลได้มีการปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงรุ่นคุณปู่-ย่า /ตา-ยาย/พ่อ-แม่ และลูกหลานในปัจจุบัน เรื่องมีอยู่ว่ามีนางยักษิณีตนหนึ่งมักจะเบียดเบียน ผู้คนอยู่เสมอ ครั้นได้ฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว นางก็บังเกิดความเลื่อมใสศรัทธานิสัยใจคอที่โหดร้ายก็กลับเป็นผู้เอื้ออารี แก่คนทั่วไปจนผู้คนต่างพากันซาบซึ้งในมิตรไมตรีของนางยักษิณีตนนั้น ถึงกับนำสิ่งของมาแบ่งปันให้ แต่เนื่องจากสิ่งของที่ได้รับมีจำนวนมาก นางยักษิณีจึงนำสิ่งของเหล่านั้นมาทำเป็นสลากภัต แล้วให้พระสงฆ์ /สามเณร จับสลากด้วยหลักอุปโลกนกรรม คือสิ่งของที่ถวาย มีทั้งของของมีราคามากและมีราคาน้อยแตกต่างกันไป ตามแต่โชคของผู้ได้รับ การถวายแบบจับสลากของนางยักษิณีจึงนับเป็นครั้งแรกของประเพณีทำบุญสลากภัตในพุทธศาสนา [ตานก๋วยสลาก/ตานสลาก/ กิ๋นข้าวสลาก/กิ๋นก๋วยสลากหรือกิ๋นสลาก] ล้วนแล้วแต่เป็นภาษาของชาวถิ่นล้านนา ที่มักมีการเรียกขานแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น แต่ความหมายนั้นเหมือนกันโดยหลักการอาจจะแตกต่างกันไปบ้าง ในเรื่องของรายละเอียดถ้าเป็นภาษาไทยกลางเรียกว่า "สลากภัต" ประเพณี "ตานก๋วยสลาก" หรือ "สลากภัต" ของชาวล้านนานิยมปฏิบัติกันตั้งแต่เดือน ๑๒ เหนือถึงเดือนยี่เหนือหรือตั้งแต่เดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี สาเหตุที่ถือปฏิบัติกันเช่นนี้ก็เพราะว่า เป็นช่วงที่ชาวบ้านได้ทำนากันเสร็จแล้ว หยุดพักผ่อน พระสงฆ์ก็จำพรรษาอยู่วัดไม่ได้ไปไหนและบวกกับในช่วงเวลานี้ก็มีผลไม้สุก เช่น ลำไย มะไฟ สมโอ เป็นต้นเมื่อต้นข้าวในนาเริ่มเขียวขจีชาวนาที่มีฐานะไม่ค่อยดีการดำรงชีวิตก็เริ่มขัดสนเมื่อข้าวในยุ้งก็หมดก่อนฤดูกาล เก็บเกี่ยวจะมาถึง ดังนั้นการตานก๋วยสลากในช่วงนี้จึงเท่ากับว่าได้สงเคราะห์คนยากคนจนเป็นสังฆทานได้กุศลแรง ก่อนจะถึงวันตานก๋วยสลาก 1 วันเขาเรียก "วันดา" หรือ "วันสุกดิบ"วันนี้จะเป็นวันที่ชาวบ้านได้จัดเตรียมข้าวของ ไม่ว่าจะเป็นของกินหรือของใช้ต่างๆ สำหรับที่จะนำมาจัดดาใส่ก๋วยสลากและวันนี้มักจะมีญาติสนิทมิตรสหาย ที่อยู่ต่างบ้านมาร่วมจัดดาสลากด้วย ซึ่งถือเป็นประเพณีที่จะได้ทำบุญร่วมกันผู้ชายจะเป็นคนสานก๋วยสลาก (ตะกร้า) สำหรับที่จะบรรจุใส่ของกินของใช้ต่างๆก๋วยจะกรุด้วยใบตอง/หรือตองจี๋กุ๊กเมื่อรวบปากก๋วยมัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีไม้ไผ่เหลาเป็นก้านเล็กๆ สำหรับเสียบสตางค์/กล่องไม้ขีดไฟ/บุหรี่ เพื่อทำเป็นยอดก๋วยสลากจะมากน้อยบ้าง ตามแก่กำลังศรัทธาและฐานะ ก๋วยสลากจะมีอยู่ ๒ ลักษณะ ๑. ก๋วยน้อย เป็นก๋วยสลากสำหรับที่จะถวายทานไปให้กับผู้ที่ล่วงลับ ซึ่งไม่เพียงแต่ญาติน้องเท่านั้นอาจจะเป็นเพื่อนสนิท มิตรสหายก็ได้ หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงที่เราเคยรักและมีคุณต่อเราเมื่อครั้งยังมีชีวิตเช่น ช้าง ม้า วัว ควายและสุนัข เป็นต้น หรือถ้าไม่รู้ว่าจะถวายทานไปให้ใครก็ถวายทานเอาไว้ภายหน้า ๒. ก๋วยใหญ่ เป็นก๋วยที่จัดทำขึ้นใหญ่เป็นพิเศษซึ่งจะบรรจุข้าวของได้มากขึ้น ถวายเป็นมหากุศลสำหรับคนที่มีกำลังศรัทธา และฐานะดี เป็นปัจจัยนับว่าได้กุศลแรง สลากที่มักจัดทำขึ้นเป็นพิเศษอีกอย่างหนึ่งก็คือ " สลากโชค" มักจะเป็นสลากของผู้ที่มีฐานะดีระดับเศรษฐี (บางคน) ที่ต้องการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้กับบิดามารดาหรือญาติผู้ใหญ่ที่ได้ล่วงลับอันเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูรู้คุณคน " สลากโชค" มักทำเป็นต้นสลากที่สูงใหญ่สำหรับที่จะนำเอาวัตถุสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆผูกมัดติดกับต้นสลากเช่น ผ้าห่ม ที่นอน หมอน หม้อนึ่ง ไหข้าว หม้อแกง ถ้วย ชาม ช้อน ร่ม เครื่องนุ่งห่ม อาหาร แห้งต่างๆ และเงินที่เป็นธนบัตรชนิดต่างๆ ต้นสลากจะมีการประดับตกแต่งให้สวยงามกว่าสลากธรรมดา ก่อนที่จะนำเอาก๋วยสลากไปรวมกันที่วัด ต้องเขียนเส้นสลากเสียก่อน ตัวอย่างเช่น "ศรัทธาหมายมีนายอดุมทรัพย์ นางสำรวย ถวายตานไปหาพ่ออุ้ยทองแม่อุ้ยคำ ผู้ล่วงลับ ขอหื้อไปรอด ไปเถิงจิ่มเต่อ" เป็นต้น ในสมัยก่อนนั้นจะนำเอาใบลานมาทำเป็นเส้นสลาก แต่ปัจจุบันจะเขียนลงบนแผ่นกระดาษ เมื่อนำเอาก๋วยสลากไปรวมกัน ไว้ที่วัดแล้วเส้นสลากก็จะถูกนำไปกองรวมกัน ไว้ในวิหารหน้าพระประธานเมื่อเสร็จพิธีกรรมทางศาสนาแล้วเส้นสลากจะถูกนำมา แบ่งสันปันส่วนกันไปในหมู่ของพระสงฆ์ที่ได้นิมนต์มาจากวัดต่างๆ รูปละ ๕ เส้น ๑๐ เส้นบ้างแล้วแต่กรณี ส่วนหนึ่งจะถูกแบ่งให้วัดที่เป็นเจ้าภาพก่อนจะถึงเวลาเพล พระสงฆ์ก็จะนำเอาเส้นสลากไปอ่าน โดยเริ่มจากเจ้าอาวาสก่อนจะมีการเรียกชื่อหาเจ้าของสลากนั้นๆ ว่านั่งอยู่ที่ใด เมื่อพบแล้วจะมีการให้ศีล ให้พรมีการหยาดน้ำอุทิศ ส่วนบุญกุศลไปให้กับผู้ที่ล่วงลับเป็นเสร็จพิธี ขอบคุณข้อมูลดีๆๆจาก http://www.med.cmu.ac.th/secret/admin/web/custom5_8.html |
ประเพณีการสืบชะตา
ความเชื่อแต่โบราณว่า การเกิดเมืองหรือการสร้างเมืองนั้น สร้างตามฤกษ์ยามที่เป็นมหามงคลตบะ เตชะ เหมือนกับการเกิดของประชาชนที่มีความสุข ความเจริญ ความสุข ความสมหวัง และบางครั้งก็เสื่อมโทรมอับเฉาเศร้าหมอง นานัปการเมื่อประสบปัญหาเหล่านี้ ชาวล้านนาไทยมีความเชื่อว่า หากได้ทำบุญสืบชะตาจะช่วยให้ทุกสิ่งทุกอย่างดีขึ้น เหมือนเดิมหรือดีกว่าเดิม จึงปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน การสืบชะตา ได้แก่ การสืบชะตาการเกิด สืบอายุ สืบชีวิต ให้ยืนยาว ออกไปนานเท่านาน ผู้ใดปรารถนาจะมีอายุยืนควรประกอบพิธีสืบชะตาเป็นประจำทุกปี
วัตถุประสงค์การสืบชะตา
1. เพื่อต่ออายุให้ยืนยาว
2. เพื่อขจัดบัดเป่าสิ่งชั่วร้ายทั้งหลาย
3. เพื่อบำรุงขวัญ
4. เพื่อให้เกิดความสามัคคี
5. เพื่อสร้างความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพชน
6. เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของบ้านเมือง
ประเภทของการสืบชะตา การสืบชะตา แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
1. สืบชะตาคนและสัตว์
2. สืบชะตาบ้าน
3. สืบชะตาเมือง
สืบชะตาคนหรือสัตว์ ทำกันมาก ด้วยความหวังและความตั้งใจต่างกัน เช่น
- เมื่อเจ็บป่วย
- เมื่อรู้สึกไม่สบายใจ
- เมื่อจะเดินทางไปสู่ที่อื่น
- เมื่อเข้าสู่ที่อยู่ใหม่
- เมื่อแต่งงาน
- เมื่อขึ้นบ้านใหม่
- เมื่ออายุครบรอบ
- เมื่อได้ตำแหน่งหรือเลื่อนยศ
พิธีกรรม
การสืบชะตามีพิธีกรรมที่สำคัญ คือ เครื่องพิธีสืบชะตา ประกอบด้วย
- ไม้ค้ำ มีความหมายว่า จะค้ำจุนชีวิตให้มั่นคง
- ขัวไต่ หมายถึง สะพานชีวิตที่จะมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น
- ขั้นไดเงิน ขั้นไดคำ ขั้นไดนาก หมายถึง บันไดเงินทอง และนาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีงามที่จะก้าวขึ้นไปสู่ความเจริญ มะพร้าวงอก หน่อกล้วย หน่ออ้อย เป็นเครื่องหมายแห่งความเจริญงอกงาม และ ก่อประโยชน์มากมาย
ขันตอนพิธีกรรมอื่น ๆ
1. นิมนต์พระสงฆ์ 9 รูป
2. ทำพิธีขึ้นท้าวทั้ง 4 หรือบูชาท้าวโลกบาล
3. ตั้งเครื่องชะตาไว้ในห้องพิธี
4. ผู้สืบชะตาเข้านั่งในซุ้มสืบชะตา
5. ปู่อาจารย์ หรือพิธีกร อาราธนาศีลและพระปริตร
6. พระสงฆ์ให้ศีลและเจริญพระพุทธมนต์ มีสวดสืบชะตา
7. มีเทศน์ธรรมคัมภีร์ สารากริวิชานะสูตร 1 ผูก
8. พระสงฆ์ทำการประพรมน้ำพระพุทธมนต์ และผูกข้อมือแก่ผู้เข้าพิธีหรือผู้ร่วมพิธี
9. ถวายภัตตาหารและถวายไทยทาน
พิธีสืบชะตาปริศนาธรรมของคนล้านนา
ในวิถีชีวิตของคนล้านนาไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนี้ มีพิธีกรรมในพระ พุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตาย คนล้านนาในสมัยโบราณมีความเชื่อมั่นศรัทธา ในพระพุทธศาสนาจนฝังรากลึก มองเห็นสิ่งต่างๆ ในร่มเงาของวัดวาอารามเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เวลาเดินเข้าวัดจะไม่ยอมสวมรองเท้าเพราะถือว่าเป็นการอยู่ที่สูง ขาดความเคารพ แต่โดยแท้จริงคนโบราณต้องการให้เท้าได้สัมผัสกับดินทราย ในวัดหรือที่เรียกว่า “ ข่วงแก้วตังสาม” เพื่อให้ได้กลิ่นไอแห่งสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ซึมซับเข้าไปในร่างกายจิตใจนั่นเอง เวลาเดินไปจะไม่ยอมเหยียบเงาพระธาตุเจดีย์ เงาพระสงฆ์ - สามเณรถือว่าเป็นบาป เมื่อพบพระสงฆ์กลางทางจะนั่งยอง ๆ ถ้าไม่ยกมือไหว้ก็จะรอให้พระผ่านไปก่อน บางคนขี่จักรยานก็จะลงจากจักรยาน สวมหมวก กางร่มก็จะถอดหมวกพับร่มเสีย จะเห็นได้ว่าวิถีชีวิตของชาวล้านนาโบราณให้ความเคารพนับถือ พระสงฆ์สามเณร มีความเคารพยำเกรงต่อวัดวาอาราม เจดียสถานอย่างมาก เพราะฉะนั้นพิธีกรรมต่างๆ ที่สำคัญในการปรกอบพิธีและให้พระสงฆ์ – สามเณร อาจารย์ (มัคคทายก) ให้คำปรึกษา เป็นผู้จัดการทำให้ความผูกพันระหว่างบ้านกับวัด ชาวบ้านกับชาววัดจึงแน่นแฟ้นไม่เสื่อมคลาย ขนาดพืชพันธ์ธัญญาหาร ส้มสุกลูกไม้ อะไรออกผล ก่อนจะกินต้องนำไปถวายให้พระฉันก่อน เพื่อเอาบุญจะไม่กิน ก่อนจะถวายทาน จึงมีคำกล่าวไว้ว่า “บ่ดีกิ๋นก่อนต๋าน บ่ดีมารก่อนแต่ง” คือไม่ดี
กินก่อนให้ทาน ไม่ดีมีลูกก่อนแต่งงาน เพราะฉะนั้นหลังจากเก็บเกี่ยวจึงมีประเพณีทานข้าวใหม่
ในการสืบชาตานั้น เราจะเห็นว่ามีเครื่องประกอบพิธีดังนี้
๑. ไม้ค้ำยาวเท่าตัว ๓ เล่ม ทำจากไม้ง่ามมีขนาดเอากำมือรอบหรือดตกว่านั้นเล็กน้อย
๒. ไม้ค้ำเล็กขนาดเท่าหัวแม่มือยาว ๑ ศอก จำนวนเท่าอายุ หรือมากขึ้นแต่ไม่เกิน ๑๐๘
๓. บัดได ๗ ขั้น หรือ ๙ ขั้น
๔. ทำกระดาษทอง เงิน หมากพลู บุหรี่ เมี่ยง ข้างตอก ดอกไม้ ร้อยด้วยไหม เรียกว่า ลวดเงิน ลวดคำ ลวดหมาก ลวดเมี่ยง นำมามัดกับบันไดที่ทำ
๕. หม้อน้ำดื่ม และกระบวย
๖. เสื่อหมอนใช้ของใหม่
๗. ทำไม้สะพาน ใช้ไม้ไผ่หรือไม้เนื้อแข็ง เอา ๒ อัน ทำให้ติดกัน
๘. ตุงก้าคิง คำนี้เป็นภาษาไทยใหญ่ หมายถึงยาวเท่าตัว ตุงห้าคิง หมายถึงธงยาวเท่าตัว
๙. เทียนก้าคิง สีสายก้าคิง คือเทียนที่ทำยาวเท่าตัว และฝ้ายยาวเท่าตัวชุบด้วยน้ำมันพืชสำหรับจุดเป็นพุทธบุชา
๑๐. กระบอกทราย หรือข้าวสาร ใช้ไม้อ้อยาวเท่านิ้วบรรจุทราย หรือข้าวสาร จำนวน ๒๐ กระบอก
๑๑. กระบอกน้ำ ใช้ไม้อ้อเช่นเดียวกันจำนวน ๑๒ กระบอก
๑๒.ผางประทีป หรือเทียน จำนวน ๔ อัน ถ้ามากเท่าอายุหรือเกินได้แต่ อย่าให้เกิน ๑๐๘
๑๓. ช่อน้อย ตุงไชย จำนวน ๖ หรือเท่าอายุ แต่อย่าเกิน ๑๐๘
๑๔. ข้าวเปลือก หมื่นเท่ากับ ๑๐ ลิตร ข้าวสารพัน เท่ากับ / ๑ ลิตร
๑๕. หน่อกล้วย หน่ออ้อย งอกมะพร้าว
๑๖. กล้วยแก่ ๑ เครือ มะพร้าว ๑ คะแนง (ทะลาย)
๑๗. สะตวง หรือกระทงกาบกล้วยใส่สรรพโภชนาหาร
๑๘. ทำบายศรี นมแมวจีบใบตองประดับดอกไม้ต่าง ๆ และใส่ข้าว ขนม ผลไม้
๑๙. ฝ้ายมงคล (ด้ายสายสิญจน์)
ทั้งหมดนี้ ครูบาอาจารย์กำหนดให้นำมารวมกันตั้งไว้ โดยมีไม้ค้ำใหญ่ ๓ อัน เป็นหลักให้ปลายไม้แต่ละเล่มค้ำสุมรวมกัน แล้วนำของต่าง ๆ วางไว้ที่โคนไม้ค้ำบ้าง มักรวมกับไม้ค้ำบ้าง ไว้ข้างบนสุดยอดไม้ค้ำบ้าง แต่ละอย่างมีความหมายที่เป็นบุคลาธิษฐานคือธรรมะที่จะปฏิบัติให้เกิดความสุข ซึ่งถ้าไม่พิจารณาโดยละเอียด จะไม่พบธรรมะในเครื่องสืบชาตาเหล่านี้เลย
ถ้าหากจะแบ่งของในพิธีกรรมสืบชาตานี้จะเห็นมีอยู่ ๔ ประเภท คือ
๑. ประเภทใช้แทนหมู่คน
๒. ประเภทใช้แทนร่างกาย
๓. ประเภทใช้สอย เครื่องอุปโภค บริโภคของคน
๔. ประเภทใช้เป็นอาหารคน
๑. ประเภทใช้แทนหมู่คนนั้น ได้แก่ ไม้ค้ำใหญ่ ไม้ค้ำเล็ก
ก. ไม้ค้ำใหญ่ ๓ เล่มนี้ ถ้าสืบชาตาในครอบครัว หรือสืบชาตา
ชาวบ้านหมายถึงบุคคล ๓ คน คือ พ่อ แม่ ลูก ซึ่งเป็นหลักใหญ่ของครอบครัวถ้าคนทั้ง ๓ นี้ ยังค้ำจุนกันอยู่คือยังรักสมัครสมานสามัคคี เมตตา เอื้อเฟื้อเอาใจใส่ ไม่นอกใจกันไม่ทอดทิ้งกัน ลูกยังเชื่อฟังพ่อแม่ พ่อแม่ยังเอาใจใส่ลูกเลี้ยงดูอบรมลูก ๆ บ้านนั้น ครอบครัวนั้นชาตาดี คนนั้นชาตาไม่ขาด ถ้าสืบชาตาวัดวาอาราม ไม้ค้ำ ๓ เล่มนี้ หมายถึง พระสงฆ์ สามเณร ศรัทธาญาติโยม ทั้ง ๓ พวกนี้เป็นหลักของวัด
ข. ไม้ค้ำเล็กขนาดเท่าหัวแม่มือยาว ๑ ศอก จำนวนเท่าอายุ หรือ ๑๐๘ อัน นั้นหมายถึงบุคคลผู้อยู่ร่วมบ้าน ร่วมวัด เช่น ญาติ บริวาร เขย สะใภ้ หรือเป็นลูกศิษย์อารามิกชน คนอยู่ในวัด ถ้ายังอยู่ปกติดี ค้ำจุนอุดหนุน อุปถัมภ์ บำรุงกันดี เหมือนไม้ค้ำเล็กมัดรวมกันกับไม้ค้ำใหญ่สนับสนุนช่วยเหลือ ชะตาบ้านก็ไม่ขาด ชะตาวัดก็ไม่ขาด ถ้าไม่หวังดี ปรารถนาดีคอยขัดแย้งทำลาย ชะตาบ้านนั้นขาด วัดก็เช่นเดียวกัน ไม้ค้ำนี้จึงเป็นธรรมะในข้อ เมตตาธรรม สามัคคีธรรม ที่ปรากฏให้เห็นโดยปริศนา แทนหมู่คน ถ้ามีเมตตา สามัคคี ในหมู่คนทุกจำพวก ชะตาก็จะดี ชะตาก็ไม่ขาด
๒. ประเภทใช้แทนร่างกายคน ได้แก่ กระบอกทราย หรือข้าวสาร จำนวน ๒๐ กระบอก กระบอกน้ำ ใช้ไม้อ้อเช่นเดียวกันจำนวน ๑๒ กระบอก ผางประทีป หรือเทียน จำนวน ๔ อันถ้าหากมากเท่าอายุหรือเกินได้แต่อย่าให้เกิน ๑๐๘ ตุงก้าคิง ๑ ตัว สีสายก้าคิง ๑ เส้น สิ่งเหล่านี้ใช้แทนร่างกายคน สำหรับร่างกายคนเรานั้น ท่านกล่าวไว้ว่าประกอบด้วยธาตุ ๔ ประชุมกัน คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ รวมเป็นร่างกาย แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือรูปกับนาม ซึ่งท่านกำหนดสิ่งของธาตุทั้ง ๔ และรูปนามดังนี้
๓. ประเภทใช้สอย เครื่องอุปโภค บริโภคของคน ซึ่งมีหลายอย่าง
ก. บันได ๗ ขั้น หรือ ๙ ขั้น หมายถึงการนับญาติที่เรียกว่าเจ็ดเจ้นขะกู๋ล หรือเจ็ดชั่วโคตรนั้น
ข. ไม่ขัว (สะพาน) ทำเป็นไม้ ๒ อันติดกัน ท่านหมายถึง การมีน้ำใจ ต่อญาติมิตร บริวาร เพื่อนใกล้เคียง คือยินดีต่อแขกผู้ไปมาหาสู่ ได้ทุกโอกาส เหมือนทำสะพานให้คนเดิมมาสู่บ้าน
ค. หม้อน้ำ กระบวย เสื่อ หมอน พลู บุหรี่ เมี่ยง ของเหล่านี้เป็นของรับแขก มีความหมายว่า ถ้าเรามีสิ่งนี้ไว้ ใครไปใครมา มีไว้ต้อนรับไม่ขาดแคลน
๔. ประเภทใช้เป็นอาหารคน แบ่งเป็น ๒ อย่างคือ ที่เป็นต้นกล้า
สำหรับทำพันธุ์อย่างเช่น หน่อกล้วย หน่ออ้อย งอกมะพร้าว ต้นหมาก ฯ ถือว่าถ้าหมั่นปลูกฝัง ไม่เกียจคร้าน ก็จะมีกินมีใช้อุดมสมบูรณ์ ไม่ขัดสน อับจน ถ้าไม่แสวงหาพืชพันธุ์ต้นกล้าหามาปลูก ชาตาชีวิตอับเฉา ชะตาชีวิตขาดทำให้ยากจน อันแฝงด้วยธรรมะให้มีความหมั่นความขยัน ไม่นิ่งดูดาย และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สร้างระบบนิเวศวิทยาที่ดี ถ้าไม่มีอาหารหล่อเลี้ยงร่างกายชีวิตก็จะขาดความสุข ถ้ามีอาหารการกินบริบูรณ์ชีวิตก็จะมีความสุข ถ้าต้องการให้ชาตาชีวิตดี
ที่มา : http://thaigoodview.com/node/18359?page=0,1
วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2555
เทศกาลไหว้พระจันทร์
เทศกาลไหว้พระจันทร์ เป็นเทศกาลของชาวจีนโดยปกติจะมีวันเพ็ญ เดือน 8 (เดือนกันยายน หรือตุลาคม) เทศกาลนี้จัดขึ้นกลางฤดูใบไม้ร่วงจึงเรียกว่า "จงชิว" (Zhong Qiu) แปลว่า "กลางฤดูใบไม้ร่วง" เพื่อระลึกถึงเทพธิดาแห่งพระจันทร์ ซึ่งเชื่อกันว่าถือกำเนิดขึ้นในวันนี้ อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับต้นกำเนิดของเทศกาลนี้ยังคงไม่เป็นที่ปรากฏแน่ชัด บ้างก็ว่าจักรพรรดิ์วูแห่งราชวงศ์ฮั่นเป็นผู้ริเริ่มการฉลองเพื่อกราบไว้พระจันทร์เป็นเวลา 3 วันในฤดูใบไม้ร่วงนี้ แต่หลายคนก็แย้งว่า ความจริงแล้วเทศกาลนี้เกิดขึ้นในราวปี พ.ศ. 1911 ในช่วงมองโกลยึดครองจีน ขนมเค้กที่ทำขึ้นก็เพื่อซุกซ่อนข้อความลับของพวกกบฎที่มีถึงประชาชนทั่วทั้งประเทศให้มาชุมนุมกันครั้งใหญ่นเดือน 8 นี้ ทหารมองโกลไม่ได้ระแวงถึงจุดประสงค์ของพวกกบฎ เพราะคิดว่าขนมเค้กเหล่านั้นเป็นการทำตามประเพณีดั่งเดิมของชาวจีน ด้วยเหตุนี้ในคืนนั้นเองทหารมองโกลจึงถูกปราบเสียราบคาบหลังจากที่ราชวงศ์ใหม่คือราชวงศ์ หมิงได้ถูกจัดตั้งขึ้นแล้ว ประเพณีนี้ก็ถือปฏิบัติกันมาจนถึงทุกวันนี้
นอกจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เหล่านี้แล้ว ก็ยังมีนิทานและตำนานอีกหลายเรื่อง หนึ่งในจำนวนนี้ก็คือเรื่องเกี่ยวกับนางเซียงง้อ (บ้างก็เรียกฉางเอ๋อ) ซึ่งเป็นหญิงที่มีความงดงามมาก นางเป็นภรรยาของขุนนางจีนท่านหนึ่ง หลังจากที่นางทานยาวิเศษเข้าไป นางก็เหาะขึ้นไปอยู่บนพระจันทร์ภายหลังนางกลายเป็นอมตะหลังจากที่ได้ดื่มน้ำอมฤตของเทพธิดาองค์หนึ่งบนสวรรค์ กล่าวกันว่านางจันทรเทพธิดาเสี้ยงหงอมีน้ำใจเมตตาเอื้ออารีมาก พอถึงฤดูกาลเพาะปลูกนางก็จะประพรมน้ำอมฤตลงมาบนพื้นโลกและนี่ก็นำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองแก่ชาวไร่ชาวนาทั้งมวล เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูต่อนางจันทรเทพธิดาชาวนาจึงทำขนมโก๋จากแป้งข้าวเจ้าเพื่อสักการะนางในคืนวันเพ็ญเดือน 8 เนื่องจากว่าโดยปกติประเพณีต่าง ๆ ของชาวจีนจะเกี่ยวของกับการทำอาหารพิเศษ ๆ เพื่อเป็นเครื่องสักการะในวันนั้น แต่ว่าอาหารจีนที่ทำขึ้นในวันไหว้พระจันทร์นี้ไม่ใช่ขนมเค้กอย่างเช่นของชาวตะวันตกตามที่เข้าใจกัน ในประเทศไทย ศิลปะการทำขนมเค้กแบบชาวจีนนี้ถูกนำเข้ามาเผยแพร่โดยชาวจีนอพยพมากกว่า 100 ปีมาแล้ว ขนมไหว้พระจันทร์ของจีนแต่เดิมนั้นมีส่วนประกอบ เช่น ถั่วแดง ลูกนัทจีน 5 ชนิด และ เมล็ดบัว เป็นต้น ในประเทศไทยก็มีส่วนประกอบที่แตกต่างออกไป เช่น การรวมเอาทุเรียน ลูกเกาลัดและลูกพลับเข้าไว้ด้วย เครื่องปรุงที่เพิ่มเข้ามาก็อาจจะรวมเอาเมล็ดบัว ไข่แดงเค็ม และเมล็ดแตงโมด้วย เป็นที่น่าสังเกตว่า โดยปกติแล้วพิธีนี้จะให้สตรีเป็นผู้ทำเพราะว่าคนเชื่อกันว่าพระจันทร์มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างแนบแน่นกับเทพเจ้าสตรีเรื่อยมา ดังนั้น จึงมีการบูชาด้วยแป้งและเครื่องสำอางด้วยเพราะหวังว่าการทำเช่นนี้จะนำมาซึ่งความสวยงามและผิวงามแก่สมาชิกในครอบครัวที่เป็นจริงทั้งหมด ไม่ว่าความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์จะก้าวหน้าไปไกลขนาดไหนก็ตาม สิ่งเหล่านี้ไม่มีผลกระทบต่อความเชื่อตามประเพณี และพิธีที่สืบทอดกันมาชั่วลูกชั่วหลานของชาวจีนแต่ประการใด
อ้างอิง
ประเพณีทิ้งกระจาด
ความสำคัญ
งานประเพณีทิ้งกระจาดนี้ เป็นงานที่รวมกันของประชาชน ในวันที่จะทำบุญให้ทาน เป็นประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนา เป็นการสร้างความเอื้ออาทรกันในหมู่สมาชิกของสังคมส่วนใหญ่ โดยถือว่าการทำบุญให้ทานนี้เป็นเครื่องลดความเห็นแก่ตัวลง
พิธีกรรม
งานประเพณีทิ้งกระจาดนี้จะเริ่มหลัง วันสารทจีน 3 วัน วันเพ็ญเดือน 7 ตามปฏิทินจีน ประมาณปลายเดือนสิงหาคมหรือต้นเดือนกันยายน ตามปฏิทินไทย อัญเชิญเจ้าพ่อหลักเมืองมาตั้งเป็นประธานในพิธี ซึ่งจะสร้างเป็นโรงกงเต็ก ที่หน้าสมาคมตงฮั้วฮ่วยก้วง และศาลมูลนิธิท่งเอี้ยะเซี่ยงตึ้ง ถนนพันคำ ภายในโรงกงเต็กนี้มีการอัญเชิญเจ้าพ่อหลักเมืองมาสิงสถิตในโรงกงเต็กชั่วคราว ติดกับบริเวณโรงพิธีจะมีร้านปลูกไว้สูง 4-5 เมตร บนร้านมีกระจาดใส่สิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคนานาชนิดที่ได้มาจากการบริจาคของชาวบ้านร้านตลาด ในวันที่สามของงานจะเป็นวันทิ้งกระจาด ทำเป็น ติ้ว ติดหมายเลขทิ้งลงมาจากร้านสูงนั้น ใครเก็บได้ก็นำไปแลกสิ่งของตามหมายเลขนั้น ๆ
นอกจากนี้งานประเพณีทิ้งกระจาดยังมีรูปพญายมที่ชาวจีนเรียกว่า ไต้ซื้อ ทำด้วยกระดาษ โครงร่างสานด้วยไม้ไผ่ เขียนด้วยสีน้ำเงิน ขาว และแดง สูงในราว 4-5 เมตร ยืนชี้นิ้วหน้าตาถมึงทึงน่ากลัวมาก บนศีรษะไต้ซื้อมีรูปพระโพธิสัตว์กวนอิมอยู่องค์หนึ่ง คอยดูแลพวกภูติผีปีศาจแย่งชิงสิ่งของกัน หน้าโรงกงเต็กมีงิ้วแต้จิ๋วประชันกัน 2 โรง ในสมัยก่อนเล่นกันหามรุ่งหามค่ำ 24 ชั่วโมงเต็มไม่หยุด 3 วันสามคืน พอบ่ายวันที่สาม งิ้วทั้งสองจะวิ่งมาชิงธงกัน ใครเอาไปปักก่อนเป็นฝ่ายชนะ
ประวัติความเป็นมา
ประเพณีทิ้งกระจาดของชาวจีน ว่าสืบเนื่องมาจากมีเศรษฐีครอบครัวหนึ่ง มีบุตรชาย ซึ่งต่อมาบวชเป็นพระและสำเร็จเป็นพระอรหันต์ มีนามว่า พระอรหันต์ "มู้เหลี่ยง" (หรือ หมกเลี้ยง)
บิดาของท่านเป็นผู้ที่ชอบปฏิบัติธรรม มีใจเป็นกุศล ชอบทำบุญทำทาน และเชื่อในเรื่องบาปบุญคุณโทษ แต่ทว่ามารดาของท่านกลับตรงข้าม ไม่ชอบเรื่องเหล่านี้ และไม่เชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ
ในเวลาต่อมา บิดาของท่านถึงแก่กรรมลง พระมู้เหลี่ยงก็จัดพิธีงานศพ ตลอดจนพิธีกงเต็กให้บิดา โดยท่านนิมนต์พระคณาจารย์จีน ซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่ฉันแต่อาหารเจ ในขณะเดียวกัน เทพจี้กง จำพรรษาอยู่ในวัดที่พระมู้เหลี่ยงไปนิมนต์มาในพิธีงานศพของบิดา
ครั้นก่อนถึงวันที่จะทำ พิธีกงเต็ก คืนนั้นเทพเจ้าจี้กงเตือนให้พระที่ได้รับกิจนิมนต์ว่า ในพิธีกงเต็กที่ได้รับนิมนต์จะพบกับ คนใจดำอำมหิตเป็นมาร จะมากลั่นแกล้งพระที่ได้รับนิมนต์ไปในงานนี้ ให้ระวังให้ดี
พระที่ได้รับนิมนต์ไปเรียนถามว่า จะมีวิธีป้องกันอย่างไร เทพจี้กง แนะนำว่า สิ่งที่มองไม่เห็น อย่าได้ฉัน ให้ฉันแต่สิ่งที่มองเห็นก็พอ
ครั้นถึงวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นวันทำพิธีกงเต็ก มารดาของพระอรหันต์มู้เหลี่ยง ต้องการ แกล้งพระ และต้องการทดสอบ ปฏิปทาของพระไปในตัว เพราะตลอดเวลาตนก็ไม่มีใจศรัทธาอยู่แล้ว จึงสั่งให้คนครัวนำเอาสุนัขที่เลี้ยงไว้ไปฆ่า แล้วนำเนื้อสุนัขมาหมักรวมกับต้นหอม ผักชี และกระเทียม แล้วนำมาทำเป็นไส้ซาลาเปา
พอถึงเวลาฉันเพล จึงให้คนนำ ซาลาเปาไส้เนื้อสุนัข ที่ทำไว้ออกมาถวายพระ เมื่อพระที่ได้รับนิมนต์เหล่านั้นเห็น ซาลาเปา ทุกรูปก็จำคำเตือนของเทพจี้กง จึงหยิบซาลาเปา แล้วซ่อนไว้โดยไม่ยอมฉัน พอได้เวลาพักผ่อน พระได้ชมบ้าน และสวนดอกไม้ทางหลังบ้านของเศรษฐี
ในขณะที่ชมสวนอยู่นั้น พระท่านนำเอาซาลาเปาไส้เนื้อสุนัข ที่ซ่อนไว้ออกมาหักดู ก็เห็นไส้ซาลาเปามีเนื้อสัตว์ผสมอยู่ จึงโยนทิ้งลงในบริเวณสวนดอกไม้นั้น
ทันใดก็เกิดอาเพศ ฝนฟ้าคะนอง และตกลงมาอย่างหนัก
หลังจากที่พระทำพิธีกงเต็กเสร็จแล้ว มารดาของพระมู้เหลี่ยงจึงถามพระที่ทำพิธีว่า ต้องการฉันอาหารเนื้อสัตว์อะไร (หมู เห็ด เป็ด ไก่) ตนจะได้จัดถวายให้
พระท่านบอกว่า โยม อาตมาฉันแต่อาหารเจ ไม่ได้ฉันเนื้อสัตว์ มารดาของพระมู้เหลี่ยงได้ยินดังนั้นก็หัวเราะเยาะเย้ยหยัน พร้อมกล่าวว่า ซาลาเปาที่ท่านฉันตอนเพลนั้น มันเป็นไส้เนื้อสุนัข ท่านฉันแล้วไม่รู้หรือว่ามีเนื้อสัตว์ผสมอยู่ ไม่เห็นท่านว่ากล่าวอะไรออกมาเลย
เมื่อได้ฟังดังนั้นพระก็บอกว่า โยม อาตมาไม่ได้ฉันซาลาเปานั้นเลย ตามอาตมาไปที่สวนหลังบ้านดูสิ
เมื่อมารดาของพระอรหันต์มู้เหลี่ยงไปถึง ก็เห็น ต้นหอม ต้นผักชี และ ต้นกระเทียม งอกขึ้นมาในสวน เป็นที่แปลกและอัศจรรย์ใจมาก จึงเกิดความรู้สึกว่าสิ่งที่ตนทำลงไปนั้นเป็น บาปอันมหันต์ และด้วยเหตุนี้เอง เมื่อถึง เทศกาลกินเจเดือนเก้า ชาวจีนนอกจากจะไม่รับประทานเนื้อสัตว์แล้ว ยังไม่รับประทานผัก ๓ ชนิดนี้ด้วย
ต่อมามารดาของพระมู้เหลี่ยงถึงแก่กรรม ขณะเดียวกัน พระลูกชายก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ มีอยู่ครั้งหนึ่ง พระอรหันต์มู้เหลี่ยง ลงไปท่องเที่ยวยังเมืองนรก ได้พบกับวิญญาณของมารดา ซึ่งถูกล่ามโซ่ตรวนไว้ และกำลังจะถูกนำไปเกิดใหม่
พระอรหันต์มู้เหลี่ยง ได้ถาม ท้าวเวสสุวรรณ ว่า จะนำวิญญาณดวงนี้ไปไหน ? ท้าวเวสสุวรรณ ตอบว่า จะนำไปเกิดเป็น สุนัข เพราะตอนมีชีวิตอยู่ทำบาปไว้มาก เคยสั่งให้คนฆ่าสุนัข แล้วนำมาทำเป็นอาหารเลี้ยงพระ
พระอรหันต์มู้เหลี่ยงมีความกตัญญูต่อมารดามาก คิดที่จะช่วยมารดา จึงกล่าวขอท้าวเวสสุวรณไว้ ท้าวเวสสุวรรณก็ไม่ยอม เพราะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตาม กฎแห่งกรรม ในเรื่องบาปบุญคุณโทษ ทำให้เกิดการประลองฝีมือกันขึ้น ระหว่างพระอรหันต์มู้เหลี่ยงกับท้าวเวสสุวรรณ
ความได้ทราบถึงพระพุทธเจ้า พระองค์เสด็จลงมายังเมืองนรก และตรัสห้ามพระอรหันต์มู้เหลี่ยงว่า อย่ากระทำเช่นนั้นเลย ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเป็นไปตาม กฎแห่งกรรม
พระอรหันต์มู้เหลี่ยงตรัสพ้อว่า ตนบวชเป็นพระจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว แต่ไม่สามารถที่จะช่วยปลดปล่อยดวงวิญญาณของมารดาได้ รู้สึกบั่นทอนจิตใจเหลือเกิน
พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า ท่านสามารถที่จะช่วยปลดปล่อยทุกดวงวิญญาณในขุมนรกนี้ทั้งหมดไหม ?
พระอรหันต์มู้เหลี่ยงตอบว่า ได้ แล้วจึงได้กำหนด พิธีทิ้งกระจาด ขึ้น เพื่อที่จะช่วยดวงวิญญาณในขุมนรกนั้น โดยในพิธีนี้จัดให้มีการสวดพระคาถา และบริจาคสิ่งของต่างๆ ที่ต้องใช้ เช่น หับ เสื้อผ้า ภูเขาเงิน ภูเขาทอง เป็นต้น โดยกำหนดให้เริ่มพิธีตั้งแต่ วันที่ 1 เดือน 7 ถึงวันที่ 30เดือน 7 ของจีน (ชิกหง้วย) เป็นระยะเวลา 1 เดือน เพื่อให้ดวงวิญญาณที่อยู่ในนรกออกมารับกุศลผลบุญต่างๆ และเป็นอานิสงส์ส่งไปเกิดในภพต่อไป
ชาวจีนจึงถือปฏิบัติเป็น ประเพณีงานทิ้งกระจาด ตามสถานปฏิบัติธรรม (โรงเจ) และมูลนิธิต่างๆ รวมทั้งในเมืองไทย เพราะถือเป็นการทำบุญที่ได้อานิสงส์สูงส่ง รวมทั้งเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูต่อบรรพชนอีกด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เทศกาลสารทไทย
ฟิลิปปินส์มีเทศกาลสำคัญ 3 งาน
เทศกาล
1. เทศกาลชินูล็อก (Sinulog)
เป็นเทศกาลที่มีชื่อเสียงมากอีกงานหนึ่ง จัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 3 ของเดือนมกราคม ที่เมืองเซบู เป็นฉลองเพื่อรำลึกถึงนักบุญซานโต นินอย (Santo Nino) โดยจัดแสดงดนตรีและมีขบวนพาเหรดแฟนซีทั่วเมือง
2. เทศกาลตินาญัง (Dinagyang)
เป็นงานรื่นเริงที่มีชื่อเสียงของเมืองอิโลอิโย (lloilo) ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับเกาะปาเนย์ จัดขึ้นสัปดาห์ที่ 4 ของเดือืนมกราคม เพื่อฉลองให้แก่นักบุญซานโต นินอย เช่นเดียวกัน ซึ่งนอกจากการจัดแสงดนตรีและเดินขบวนพาเหรดแล้ว ชาวเมืองอิโลอิโย จะนำรูปจำลองของนักบุญวานโต นินอย มาแห่ฉลองทั่วเมือง รวมถึงจัดประกวดเต้นรำไปตามท้องถนน ซึ่งนับเป็นจุดเด่นของงานนี้
3. เทศกาลอาติ (Ati-Atihan)
จัดขึ้นในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมกราคม ในเมืองคาลิบู (Kalibu) บนเกาะบำเนย์ (Panay) ในหมู่เกาะวิสยาส์ นับเป็นงานเทศกาลที่ใหญ่ที่มีชื่อเสียงในเรื่องความสนุกสนาน มีการแต่งกายเลียนแบบชาวอาติ (Ati) ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมของฟิลิปปินส์ มีรูปร่างเล็ก ผิวดำคล้ำ ผมหยิกขอด ชาวฟิลิปปินส์จะจัดขบวนการแฟนซีและแสดงดนตรี เพื่อเฉลิมฉลองต่อเนื่องเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน
ขอบคุณข้อมูลดีจาก http://www.eien.in.th/diary/index.php?m=1&id=32
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)