วันพุธที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ประติมากรรมไทยสมัยสุโขทัย



       เริ่มตั้งแต่สมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ประกาศตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีประมาณ  พ.ศ. ๑๘๐๐-๑๙๑๘ เมืองสำคัญทางศิลปะของสมัยสุโขทัยมีเมืองสุโขทัยเก่า กำแพงเพชร  และศรีสัชนาลัยปรากฏโบราณสถานใหญ่โต มีศิลปวัตถุเป็นจำนวนมาก  ชาวสุโขทัยนับถือพุทธศาสนายุคแรกตามแบบสมัยลพบุรีคือพุทธศาสนาแบบมหายาน ภายหลังพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์แพร่ขยายเข้ามาในสมัยพ่อขุนรามคำแหง   วัสดุที่นำมาสร้างศิลปะประติมากรรม  มี  ปูนเพชร (ปูนขาวแช่น้ำจนจืดผสมกับทรายที่ร่อนละเอียด  ยางไม้  และน้ำอ้อยนำมาโขลกให้เหนียวแล้วนำมาปั้น  เมื่อแห้งจะแข็งและทนทานต่อดินฟ้าอากาศมาก) ดินเผา ไม้โลหะสำริด และทองคำ แบบอย่างของประติมากรรมสมัยสุโขทัย แบ่งเป็น ๔ ยุค คือ

-สุโขทัยยุคที่ ๑
-สุโขทัยยุคที่ ๒
-สุโขทัยยุคที่ ๓
-สุโขทัยยุคที่ ๔
 สุโขทัยยุคที่ ๑
        ประติมากรรมในยุคนี้ยังแสดงอิทธิพลของศิลปะ ลพบุรี ที่เห็นได้ชัด คือภาพปูนปั้นลวดลายประดับประตูรั้วทางเข้าองค์ปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุสุโขทัย ลายปูนปั้นประดับเสาไต้หรือเสาประทีป การสร้างพระพุทธรูปในยุคนี้มีแบบเฉพาะเป็นของตนเองที่เรียกกันว่า "แบบวัดตะกวน" เป็นพระพุทธรูปแบบเชียงแสน ลังกา และสุโขทัย ผสมผสานกัน มีพระพักตร์กลม พระรัศมีเป็นแบบลังกา  พระวรกายและชายสังฆาฏิสั้นแบบเชียงแสน
 
ลวดลายปูนปั้นประดับเสาไต้หรือเสาประทีป หน้าพระระเบียงพระมหาธาตุ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ศิลปะสมัยสุโขทัย
สุโขทัยยุคที่ ๒
          สุโขทัยยุคที่ ๒ ในยุคนี้ฝีมือการสร้างประติมากรรมของช่างไทยเชี่ยวชาญขึ้น พัฒนารูปแบบการสร้างพระพุทธรูปจนก่อรูปพุทธลักษณะอันงดงามของสกุลช่างสุโขทัยเอง นับเป็นศิลปะสุโขทัยแบบบริสุทธิ์ ในยุคนี้มีการสร้างพระพุทธรูปไว้มากมายตั้งแต่พระพุทธรูปขนาดใหญ่ เช่น พระอัฏ-ฐารส พระอัจนะ จนถึงพระบูชาขนาดเล็ก และพระพิมพ์ นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปนูนต่ำนูนสูงประดับภายในซุ้มมณฑปหรือพระเจดีย์เป็นจำนวนมากเช่นกันสมดัง ศิลาจารึกหลักที่  ๑  กล่าวไว้ว่า"กลางเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร  มีพระพุทธรูปทอง  มีพระอัฏฐารส มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม" พระพุทธรูปสุโขทัยไม่นิยมสลักหินแม้จะเป็นพระพุทธรูปขนาดใดก็ตามจะปั้นด้วยปูนหรือหล่อด้วยโลหะมีค่าต่างๆ  รวมทั้งทองคำบริสุทธิ์ ลักษณะพระพุทธรูปสุโขทัยยุคนี้คือพระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่ง พระนาสิกงุ้มพระโอษฐ์อมยิ้มเล็กน้อย พระเศียรสมส่วนกับพระศอและพระอังสา หมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว  พระอุระผายสง่า  พระอังสาใหญ่กว้าง พระถันโปน  บั้นพระองค์เล็ก  ครองจีวรห่มเฉียง ชายจีวรยาวจรดมาถึงพระนาภี ปลายเป็นลายเขี้ยวตะขาบ พระกรเรียวดุจงาช้าง นิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาททำแบบธรรมชาติ  ดุจมีชีวิต ฐานเป็นหน้ากระดานเกลี้ยง ปางที่นิยมคือ ปางมารวิชัย องค์ที่มีชื่อเสียงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและปางลีลาองค์พระพุทธรูปปางลีลาที่งดงาม ปัจจุบันประดิษฐานที่ระเบียงคดวัดเบญจมบพิตร
          ภาพปูนปั้นที่มีชื่อเสียงคือ ภาพปูนปั้นปางเสด็จจากดาวดึงส์ ในซุ้มด้านทิศใต้ของมณฑปวัดตระพังทองหลาง ภาพปูนปั้นประดับหน้าบันซุ้มปรางค์ทิศวัดมหาธาตุสุโขทัย ซึ่งเป็นภาพพุทธ-ประวัติประกอบลวดลายหน้ากาล มกร และกินนรและภาพปูนปั้นฐานเจดีย์ วัดเจดีย์สี่ห้อง ซึ่งเป็นภาพเทพ นางอัปสรยื่นมือถือหม้อ ต้นไม้ ดอกไม้และภาพราชสีห์นั่งบนคอช้าง หมอบโผล่จากฐานเจดีย์
พระศากยสิงห์ พระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ศิลปะสมัยเชียงแสน ประดิษฐานที่พระระเบียงวัดเบญจมบพิตร ดุสิตวนาราม กรุงเทพมหานคร
สุโขทัยยุคที่ ๓
          สุโขทัยยุคที่   ๓  การปั้นพระพุทธรูปในยุคนี้พัฒนาไปจากศิลปะสุโขทัยแบบบริสุทธิ์ มีความประณีต ดูเสมือนมีระเบียบและกฎเกณฑ์มากขึ้นพระรัศมีเป็นเปลวมีขนาดใหญ่ขึ้น  พระพักตร์รูปไข่สั้น พระอุณาโลมเป็นตัวอุหงายระหว่างหัวพระขนง พระวรกายมีความอ่อนไหวน้อยลงพระอาการสงบเสงี่ยมแลดูนิ่งสงบขึ้น พระกรยาวนิ้วพระหัตถ์ทั้ง ๔ เสมอกัน ฝ่าพระบาทเรียบสั้น พระบาทยาว  พระพุทธรูปที่สำคัญๆ  ในยุคนี้คือ พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา และพระศรีศากยมุนี เป็นต้น
          ประติมากรรมปูนปั้นประดับพุทธสถานเป็นภาพแบบอุดมคติ เพิ่งพัฒนารูปแบบตนเองให้หลุดพ้นไปจากธรรมชาติ เช่น ภาพลวดลายปูนปั้นผนังวิหารวัดนางพญา ศรีสัชนาลัย สุโขทัยภาพลวดลายสลักบนไม้ปลู  ประดับเพดานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เชลียง สุโขทัยเป็นต้น ในยุคนี้ยังพบประติมากรรมเครื่องปั้นดินเผา เครื่องประดับอาคารพุทธสถานประเภทช่อฟ้า บราลีหัวนาค หัวมกร ยักษ์ และเทวดา ซึ่งเป็นแบบเฉพาะของสุโขทัยอยู่เป็นจำนวนมาก
พระอัฏฐารส วัดสะพานหิน จังหวัดสุโขทัย พระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ ศิลปะสุโขทัย
 สุโขทัยยุคที่ ๔
          สุโขทัยยุคที่  ๔ เป็นยุคที่ประติมากรรมสมัยสุโขทัยถูกกลืนไปกับอิทธิพลของศิลปะอยุธยาเมื่อราชวงศ์พระร่วงสิ้นสุดลงใน พ.ศ. ๑๙๘๑นับเป็นสุโขทัยยุคเสื่อม  แม้มีการสร้างศิลปะในชั้นหลังก็เป็นสกุลศิลปะเล็กๆ พระพุทธรูปมีความกระด้างขึ้น ทั้งท่าทาง ทรวดทรง มักสร้างพระพุทธรูปยืน พระสำคัญในยุคนี้ เช่น พระอัฏฐารส วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร


ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก http://www.thaigoodview.com/node/72238?page=0%2C1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น