วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2555

วัฒนธรรมไทย และศิลปวัฒนธรรม คืออะไร มีอะไรบ้าง







ถ้ามีการพูดถึง วัฒนธรรมไทย หรือศิลปวัฒนธรรมไทย เรารู้หรือไม่ว่าวัฒนธรรมที่เราเรียกกัน แท้ที่จริงแล้วมันคืออะไร วัฒนธรรมไทยนั้นมีอะไรบ้าง รวมทั้งประวัติความเป็นมาของวัฒนธรรมนั้นๆ มีที่มาอย่างไร เรามารู้ความหมายและรายละเอียดของวัฒนธรรมกันเลยดีกว่า

วัฒนธรรม คืออะไร หมายถึงอะไร

วัฒนธรรม คืออะไร วัฒนธรรม หมายถึง วิถีการดำเนินชีวิต ที่มนุษย์สร้างขึ้นมานั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นการละเล่น การแสดง การร้องเพลง พฤติกรรม และบรรดาผลงานทั้งมวลที่มนุษย์ได้สร้างสรรค์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นงานด้านจิตกรรม สถาปัตยกรรม ตลอดจนความคิด ความเชื่อ ความรู้ ลักษณะที่แสดงความเจริญงอกงาม ความเป็นระเบียบความรู้สึก ความประพฤติและกิริยาอาการ หรือการกระทำใด ๆ ของมนุษย์ในส่วนรวม ลงรูปเป็นพิมพ์เดียวกันและสำแดงออกมาให้ปรากฏเป็นภาษา ศิลปะ ความเชื่อถือ ระเบียบ ประเพณี ความกลมเกลียว ความก้าวหน้าของชาติและศีลธรรมอันดีงามของประชาชน

ซึ่งวัฒนธรรมของคนแต่ละภาคในประเทศไทยก็มีความเหมือนและแตกต่างกันบ้างตามแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย รวมทั้งการสืบทอดหรืออาจมีการดัดแปลงบ้างเพื่อให้มีความเป็นสมัยนิยมมากขึ้น รวมทั้งสามารถประพฤติปฏิบัติกันได้อย่างทั่วถึงด้วยนั้นเอง
เมื่อเราทราบที่มาและความหมายของวัฒนธรรมแล้วเรามารู้จักวัฒนธรรมไทยที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันทั้งที่ทำกันทั้งประเทศและมีการแยกแต่ละภูมิภาคอีกด้วย

วัฒนธรรมไทย : ด้านการแต่งกาย

วัฒนธรรมไทยด้านการแต่งกาย ตั้งแต่ในอดีตมานั้นคนไทยมีเอกลักษณ์ด้านการแต่งกายที่ใช้ผ้าไทยซึ่งทำจากผ้าไหม ผ้าทอมือต่างๆ นำมาทำเป็นผ้าสไบสำหรับผู้หญิงไทย ส่วนผู้ชายก็มีการแต่งกายที่นิยมสำหรับชาวบ้านก็คงหนีไม่พ้นผ้าขาวม้าซึ่งนิยมใช้มาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบันก็ยังมีอยู่
ตัวอย่างเช่น ในสมัยอยุธยาตอนปลายนั้นหญิงไทยจะนุ่งโจงกระเบนสวนเสื้อรัดรูปแขนกระบอก ส่วนผู้ชายก็จะนุ่งผ้าม่วงโจง สวมเสื้อคอปิด ผ่าอกแขนยาว แต่โดยปกติก็จะไม่นิยมใส่เสื้อกัน
ซึ่งในปัจจุบันนี้เราหาแทบไม่ได้แล้วสำหรับการแต่งกายแบบนี้ เนื่องจากคนไทยสมัยปัจจุบันนิยมแต่งกายตามแบบนิยมตามชาวยุโรปซึ่งทำให้กายแต่งกายแบบอดีตเริ่มเลื่อนหายไปมาก
ดังนั้นเพื่อให้วัฒนธรรมการแต่งกายแบบไทยยังคงอยู่ต่อไปเราชาวไทยควรช่วยกันอนุรักษ์วัฒนธรรมการแต่งกายแบบไทยไว้เพื่อลูกหลานของเราจะได้ไม่ตกเป็นเครื่องมือของต่างชาติต่อไป

วัฒนธรรมไทย : ด้านภาษา

ต่อไปก็เป็นวัฒนธรรมด้านภาษา ด้วยประเทศไทยมีภาษาเป็นของตนเองมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเนื่องจากประเทศไทยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศใดในโลก ทำให้เรามีภาษาไทยใช้มาจนถึงปัจจุบัน และในประเทศไทยก็มีภาษาทางการ คือภาษากลาง ซึ่งคนในประเทศไม่ว่าจะอยู่ในภาคไหนก็สามารถสื่อสารกันได้ด้วยภาษากลางนั้นเอง เพราะในประเทศไทยเรามีถึง 4 ภาคหลักและในแต่ละภาคก็ใช้ภาษาที่แตกต่างกันไปบ้างดังนั้นเพื่อให้คนไทยสามารถสื่อสารตรงกันได้เราจึงมีภาษากลางเกิดขึ้นนั่นเอง

วัฒนธรรมไทย : ด้านอาหาร

วัฒนธรรมที่มีความสำคัญกับคนไทยไม่น้อยไปกว่าวัฒนธรรมด้านการแต่งกายและวัฒนธรรมด้านภาษาคือวัฒนธรรมด้านอาหาร ซึ่งวัฒนธรรมด้านอาหารของคนไทยนั้นก็มีมาตั้งแต่สมัยอดีตจนมาถึงปัจจุบัน ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีลักษณะอาหารการกินที่แตกต่างกันออกไป แต่โดยรวมแล้วเราจะเรียกว่าวัฒนธรรมอาหารไทย ซึ่งอาหารไทยนั้นมีมากมายที่ขึ้นชื่อของไทย และโด่งดังไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ต้มยำกุ้ง ผัดไทย เป็นต้น อาหารถือเป็นวัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่งของไทย ที่คนไทยควรให้ความสำคัญ และถือว่าอาหารไทยก็ไม่แพ้อาหารของชนชาติใด

การอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย

เหล่านี้คือวัฒนธรรมหลักๆ ที่เรามีอยู่ในประเทศไทยซึ่งจริงๆ แล้วเรายังมีวัฒนธรรมอีกมายมากเพียงแต่อาจจะใช้กันในชุมชนหรือหมู่บ้านของแต่ละท้องถิ่น แต่เมื่อเรามีวัฒนธรรมหลักที่เป็นของเราเองอยู่แล้วเราก็ควรอนุรักษ์ไว้ให้เป็นเอกลักษณ์ของเราไม่ควรให้ต่างชาติมามีอิทธิต่อเรามากเกินไปเพราะวันหนึ่งเราอาจไม่เหลือวัฒนธรรมไทยอะไรให้จดจำอีกเลย ฉะนั้นเรามาร่วมกันอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยไว้เถิดเพื่อลูกหลานเราในอนาคตจะได้ไม่หลงลืมไปและพูดถึงประเทศไทยได้อย่างเต็มความภาคภูมิใจในความเป็นไทยตลอดไป
เราควรชี้ชวน เชิญชวน วิงวอนให้ประชาชนร่วมกันทำให้เกิดความเจริญงอกงาม ให้มีความดีงามขึ้น ไม่ใช่เพียงแต่รับมรดกกันมา แต่จะต้องรักษาของเดิมที่ดี และแก้ไขดัดแปลงของเดิมที่ควรแก้ หรือดัดแปลงวางมาตรฐานความดีความงามขึ้นใหม่ แล้วส่งเสริมให้เป็นลักษณะที่ดีประจำชาติไทยสืบต่อไปจนถึงบุคคลรุ่นหลังครับ

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก http://www.thaibigbang.com

ภูมิปัญญาท้องถิ่น






งานเครื่องจักสาน เครื่องจักสานเป็นหัตถกรรมที่มีคุณค่าในตัวเองเพราะใช้วัตถุดิบซึ่งมีความงามตามธรรมชาติ ในด้านคุณค่าทางศิลปหัตถกรรมเครื่องจักสานทำขึ้นด้วยมือซึ่งต่างจากผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโรงงานจึงมีคุณค่าเฉพาะตัวในแต่ละชิ้น ลวดลายจากการสาน สอด ทอ ถัก และรูปแบบเครื่องจักสานแสดงถึงลักษณะพื้นเมือง พื้นบ้านที่แตกต่างกัน เครื่องจักสานคือภาชนะ เครื่องมือ เครื่องใช้ที่ทำขึ้นจากวิธีการ จัก สาน ถัก ทอจากวัสดุที่มีอยู่ตามท้องถิ่นทั่วไป เช่น หวาย ไม้ไผ่ ใบลาน กก ฟาง ก้าน และใบมะพร้าว เป็นต้น เครื่องจักสานเป็นหัตถกรรมที่สันนิษฐานว่าเก่าแก่ที่สุดของมนุษย์ เพราะทำขึ้นจากวัสดุที่หาง่าย หลักฐานที่ขุดพบจากเครื่องมือ เครื่องใช้ของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์พอจะยืนยันได้ว่า มนุษย์รู้จักทำเครื่องจักสานมานานและเก่าแก่กว่าหัตถกรรมอื่น ๆ ตามประวัติศาสตร์ไทยสมัยสุโขทัย ปรากฏว่ามีเครื่องจักสานชนิดหนึ่งที่พระร่วงทรงคิดขึ้นสำหรับใส่น้ำส่งส่วยให้ขอมเป็นภาชนะจักสานขึ้นด้วยชัน น้ำไม่รั่วเรียกว่ากระออมครุ

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก http://www.banphai.ac.th

วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ลักษณะของวัฒนธรรมไทย



     ความหมายของวัฒนธรรมมีหลายอย่าง  เช่น  หมายถึงขนบธรรมเนียมประเพณี  สิ่งที่ดีงาม  สิ่งที่ได้รับการปรุงแต่งให้ดีแล้ว  หรือสิ่งที่ได้รับการยอมรับและยกย่องมาเป็นเวลานานแล้ว  เช่น  ค่านิยม  ความคิดเห็น  วิทยาการต่าง ๆ เป็นต้น
     วัฒนธรรมไทยในแต่ละท้องถิ่น  จะมีความคล้ายคลึงและแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ และยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  ทั้งนี้เป็นเพราะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม  เศรษฐกิจ  การเมืองการปกครอง  และการดำเนินชีวิตของคนไทยอยู่ตลอดเวลา
     ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมเก่าแก่สืบสานต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน  มีวัฒนธรรมหลักที่ถือว่า  เป็นวัฒนธรรมประจำชาติไทย  และแสดงให้เห็นถึงความเป็นไทย  ได้แก่
          1.  ศาสนา  คนไทยส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา  แต่ก็มิได้กีดกันผู้ที่นับถือศาสนาอื่นแต่อย่างใด
          2.  ภาษา  คนไทยมีภาษาและตัวอักษรไทย  ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงได้ประดิษฐ์ขึ้นในสมัยสุโขทัยเมื่อ พ.ศ. 1826
          3.  ประเพณีไทย  เป็นสิ่งที่แสดงถึงวิถีชีวิตของคนไทยที่เคยปฏิบัติสืบเนื่องกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ  และได้สืบทอดกันมาจนถึงลูกหลาน  ที่เรียกกันว่าขนบธรรมเนียมประเพณีนั่นเอง  เช่น  การไหว้  การเซ่นไหว้บรรพบุรุษ  เป็นต้น
     สังคมไทยประกอบด้วยผู้คนหลายเชื้อชาติ  ศาสนา  และสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ในแต่ละท้องถิ่นก็มีความแตกต่างกันออกไป  วัฒนธรรมของผู้คนจึงมีความแตกต่างกันออกไปในระดับต่าง ๆ ดังนี้
          1)  วัฒนธรรมในระดับภูมิภาคของสังคมไทย  แบ่งตามลักษณะทางภูมิศาสตร์  เป็น 4 ภาคใหญ่ ๆ ได้  ดังนี้
               (1)  วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคเหนือ  เป็นภูมิภาคที่มีเอกลักษณ์ที่มีความโดดเด่นในด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นของตน  เช่น  ประเพณีตานก๋วยสลาก  ประเพณีปอยหลวง  การกินขันโตก  พิธีสืบชะตาเมือง  เป็นต้น
               (2)  วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  (ภาคอีสาน)  เป็นศูนย์รวมวัฒนธรรมที่เก่าแก่  มีวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญ  เช่น  ประเพณีบุญบั้งไฟ  ประเพณีไหลเรือไฟ  ประเพณีผีตาโขน  ประเพณีแห่ปราสาทผึ้งและหมอลำ  เป็นต้น
               (3)  วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคกลาง  เนื่องจากอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา  จึงมีชีวิตผูกพันอยู่กับการเกษตรเป็นส่วนใหญ่  และมีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สำคัญ  เช่น  ประเพณีทำขวัญข้าว  การบูชาแม่โพสพ  การลงแขกเกี่ยวข้าวและลำตัด  เป็นต้น
               (4)  วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้  ประชากรมีความแตกต่างกันทางด้านศาสนาเป็นกลุ่ม ๆ มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมประเพณี  จึงมีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะภาค  เช่น  ประเพณีการชักพระ  ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ  การเต้นรองเง็ง  หนังตะลุง  และรำมโนราห์  เป็นต้น
          2)  วัฒนธรรมพื้นบ้านของสังคมไทย
               วัฒนธรรมพื้นบ้านเป็นวิถีชีวิตการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน  ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นจะสืบทอดกันมาด้วยการพูดจา  บอกเล่า  สั่งสอน  หรือทำให้ดูเป็นตัวอย่างเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวันและการรวมกลุ่ม  รวมพลังกันทำกิจกรรมต่าง ๆ  ที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันตามความเชื่อนั้น ๆ สามารถอธิบายได้ 4 ประเภท  ได้แก่
               (1)  มุขปาฐะต่าง ๆ เช่น  ตำนานหรือนิทานพื้นบ้าน  สุภาษิต  ที่ถือเป็นคติสอนใจการดำเนินชีวิต  คำพังเพย  ปริศนาคำทาย  เพลงพื้นบ้านและการละเล่นพื้นบ้านต่าง ๆ  ซึ่งมักจะเป็นเอกลักษณ์ของภูมิปัญญาชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น
               (2)  ความเชื่อ  ประเพณี  และพิธีกรรม  ความเชื่อมีทั้งความเชื่อดั้งเดิมที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมา  เช่น  การนับถือผี  เป็นต้น  และความเชื่อที่มีเหตุผลตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา  ปัจจุบันมักเป็นแบบผสมผสานร่วมกัน
               (3)  หัตถกรรมพื้นบ้าน  เป็นงานที่เกิดจากการสร้างสรรค์หรือประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันจากวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นของตน  ในแต่ละท้องถิ่นย่อมแตกต่างกันไป  ทั้งด้านการใช้วัสดุ  เทคนิคและการถ่ายทอดสืบต่อกัน  เช่น  งานจักสาน  งานถักทอ  งานปั้น  งานแกะสลัก  และงานวาดภาพ  เป็นต้น
               (4)  ภาษาไทยพื้นบ้าน  คนไทยทุกภาคส่วนใหญ่ใช้ภาษาไทยเป็นปกติ  แต่มีสำเนียงและการใช้คำแตกต่างกันมากน้อยแต่ละท้องถิ่น  ซึ่งอาจได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมใกล้เคียงด้วย  ภาษาไทยพื้นบ้านที่ใช้กันอยู่ในกลุ่มท้องถิ่นต่าง ๆ ได้แก่  ภาษาล้านนา  ภาษาไทยใหญ่  ภาษาไทยอีสาน  ภาษาไทยภูเขา  เป็นต้น
          วัฒนธรรมในระดับภูมิภาคและพื้นบ้านของไทยมีความสำคัญที่ชาวไทยทุกคนควรช่วยกันฟื้นฟู  ปรับปรุง  ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการพัฒนาของประเทศชาติ  เพื่อเป็นเอกลักษณ์คู่กับชาติไทยสืบไป
          วัฒนธรรมมาจากการสร้างสรรค์ของมนุษยชาติ  ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นย่อมมีความแตกต่างกันไปตามปัจจัยต่าง ๆ ดังนั้นเราจึงไม่ควรดูถูกวัฒนธรรมของชาติอื่น

ความสำคัญของวัฒนธรรมไทย



     วัฒนธรรมไทย  มีความหมายครอบคลุมถึงทุกสิ่งทุกอย่างอันเป็นแบบแผนในความคิด และการกระทำที่แสดงออกถึงวิถีชีวิตของมนุษย์ในสังคมของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือสังคมใดสังคมหนึ่ง มนุษย์ได้คิดสร้างระเบียบกฎเกณฑ์วิธีการในการปฏิบัติ การจัดระเบียบตลอดจนความเชื่อ ความนิยม ความรู้ และเทคโนโลยีต่าง ๆ ในการควบคุม และใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ
     วัฒนธรรมเป็นเครื่องวัดและเครื่องกำหนดความเจริญหรือความเสื่อมของสังคม และขณะเดียวกัน  วัฒนธรรมยังกำหนดชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในสังคม ดังนั้นวัฒนธรรมจึงมีอิทธิพลต่อความเป็นอยู่ของประชาชน และต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติมาก

ความสำคัญของวัฒนธรรมไทยอาจสรุปได้ดังนี้

     1) วัฒนธรรมเป็นเครื่องสร้างระเบียบแก่สังคมมนุษย์ วัฒนธรรมไทยเป็นเครื่องกำหนดพฤติกรรมของสมาชิกในสังคมไทย ให้มีระเบียบแบบแผนที่ชัดเจนรวมถึงผลของการแสดงพฤติกรรมตลอดจนถึงการสร้างแบบแผนของความคิด ความเชื่อ และค่านิยมของสมาชิกให้อยู่ในรูปแบบเดียวกัน
     2) วัฒนธรรมทำให้เกิดความสามัคคีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สังคมที่มีวัฒนธรรมเดียวกันย่อมจะมีความรู้สึกผูกพันเดียวกัน เกิดความเป็นปึกแผ่น จงรักภักดีและอุทิศตนให้กับสังคมทำให้สังคมอยู่รอด
     3) วัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดรูปแบบของสถาบัน เช่น รูปแบบของครอบครัวจะเห็นได้ว่าลักษณะของครอบครัวแต่ละสังคมต่างกันไป ทั้งนี้เนื่องจากวัฒนธรรมในสังคมเป็นตัวกำหนดรูปแบบ เช่น วัฒนธรรมไทยกำหนดเป็นแบบสามีภรรยาเดียว ในอีกสังคมหนึ่งกำหนดว่าชายอาจมีภรรยาได้หลายคน หรือหญิงอาจมีสามีได้หลายคน ความสัมพันธ์ทางเพศก่อนแต่งงานเป็นสิ่งที่ดีหรือเป็นเรื่องขัดต่อศีลธรรม
     4) วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือช่วยแก้ปัญหา และสนองความต้องการของมนุษย์ มนุษย์ไม่สามารถดำรงชีวิตภายใต้สิ่งแวดล้อมได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นมนุษย์ต้องแสวงหาความรู้จากประสบการณ์ที่ตนได้รับการประดิษฐ์คิดค้นวิธีการใช้ทรัพยากรนั้นให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตและถ่ายทอดจากสมาชิกรุ่นหนึ่งไปสู่สมาชิกรุ่นต่อไปได้โดยวัฒนธรรมของสังคม
     5) วัฒนธรรมช่วยให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้า หากสังคมใดมีวัฒนธรรมที่ดีงามเหมาะสม เช่น ความมีระเบียบวินัย ขยัน ประหยัด อดทน การเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว เป็นต้น สังคมนั้นย่อมจะเจริญก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว
     6) วัฒนธรรมเป็นเครื่องแสดงเอกลักษณ์ของชาติ คำว่า เอกลักษณ์ หมายถึง ลักษณะพิเศษหรือลักษณะเด่นของบุคคลหรือสังคม ที่แสดงว่าสังคมหนึ่งแตกต่างไปจากอีกสังคมหนึ่ง เช่น วัฒนธรรมการพบปะกันในสังคมไทย จะมีการยกมือไหว้กันแต่ในสังคมญี่ปุ่นใช้การคำนับกัน เป็นต้น




ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก http://www.aksorn.com

วันอาทิตย์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2555

วันที่ผีเริงร่า...ผีตาโขน



วันที่ผีเริงร่า...ผีตาโขน
คมฉาน  ตะวันฉาย...เรื่อง/ภาพ
kokkram@hotmail.com
     เสียงกร้องแกร๊งของหมากกะแหล่ง ที่ห้อยติดบั้นเอว ส่งเสียงดังยามเมื่อคนที่ถูกผูกพ่วงเดินไปมา และดังระงมเมื่อหมากกะแหล่งหลายสิบหลายร้อยลูกที่ดังประสานกันทั่วงาน    ผู้คนขวั่กไขว่  ทั้งนักท่องเที่ยวที่มาจากต่างถิ่น ทั้งคนในพื้นที่ที่ร่วมแรงร่วมใจกันแต่งกายเป็นผีตาโขน   เพื่อเข้าร่วมในงานบุญใหญ่ครั้งนี้   บรรยายกาศอย่างนี้ในหนึ่งปีถึงจะมีสักครั้ง สำหรับอำเภอเล็กๆ ที่อยู่   ท่ามกลางหุบเขาติดชายแดนเฉกเช่น   อำเภอด่านซ้ายของจังหวัดเลย
     คำว่า ผีตาโขน โดยตัวเนื้อแท้ของคำนี้  หากแยกออกเป็นคำๆ ก็จะได้ความหมายในตัว   แต่เมื่อมารวมกัน ก็จะงุนงงในที่มาที่ไปว่ามีที่มาจากอะไร  มีข้อสันนิษฐานหลากหลายและไม่พ้นทฤษฏี  เพื้ยนเสียง หรือ เสียงกร่อน  ตามที่มักพยายามอธิบายชื่อของสถานที่หรือประเพณีที่นิยมกันในบ้านเรา   ชื่อไหนที่นิยมกันมากก็กลายเป็นที่ยอมรับ ส่วนจะถูกต้องหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง   ผีตาโขนก็หาได้หลุดพ้นจากทฤษฏีนี้ไม่     ด้วยบ้างบอกเพี้ยนมาจากผีตาขนบ้าง  ผีตามคนบ้าง ซึ่งยากพิสูจน์ทั้งสิ้น
หากแต่ที่น่าสนใจกลับเป็นการละเล่นผีตาโขนอันอิงมากับศาสนาและความเชื่อ   โดยเชื่อว่าผีตาโขนเหล่านี้คืออนารยะชนที่เลื่อมใสในพระเวสสันดรและพระนางมัทรีเมื่อครั้งถูกขับออกไปอยู่ป่า บำเพ็ญเพียรจนบรรดาผีเหล่านี้เกิดศรัทธาให้ความเคารพนับถือ  เมื่อพระเจ้ากรุงสัญชัยและพระนางผุสดี ไปเชิญให้พระเวสสันดรและพระนางมัทรีเสด็จกลับเข้าเมืองบรรดา ผี เหล่านี้ จึงตามเสด็จเข้ามาส่ง     การเล่นผีตาโขนจึงมักที่จะจัดงานนี้ขึ้นในงานบุญพระเวสหรืองานฮีตเดือนสี่ ซึ่งถือกันว่าเป็นงานบุญใหญ่  หรือบางครั้งก็จะมีในช่วงงานบุญบั้งไฟบ้าง  ซึ่งอาจจะเรียกชื่อต่างกันออกไปบ้าง แต่ล้วนแล้วมีที่มาที่ไปไม่ต่างกันนัก
     แต่สำหรับด่านซ้าย   นอกจากจะเป็นประเพณีแล้วยังเป็นเทศกาลที่ประชาสัมพันธ์ที่ได้ผลเป็นอย่างยิ่ง ในทุกๆ ปี จะจัดงานแห่ผีตาโขนก่อนวันเข้าพรรษา และเพื่อเป็นการสะดวกแก่นักท่องเที่ยว งานจึงมักจัดในวันเสาร์-อาทิตย์ และเป็นที่รู้กันของนักท่องเที่ยวว่า เทศกาลผีตาโขน จะมีในอาทิตย์ก่อนวันเข้าพรรษา ของทุกปี   ถ้าจะมีการมาชุมนุมกันโดยมิได้นัดหมาย ก็คงมีงานผีตาโขนนี่อีกงาน
จุดหลักของงานแห่ผีตาโขนก็คือขบวนแห่ ที่ประกอบไปด้วย ผีตาโขนใหญ่ ที่คล้ายๆกับการเล่นหัวโตในขบวนแห่นาคของภาคกลาง โดยทำจากโครงไม้ไผ่  แล้วตกแต่งหน้าตาคล้ายคน  ส่วน ผีน้อย เป็นคนสวมชุดผีตาโขนที่จุดเด่นหลักคือหัวผี ที่มาจากส่วนประกอบ 2 ส่วนคือส่วนหัวที่ทำมาจากซึ้งนึ่งข้าวเหนียว ที่พับหักก้นขึ้นไปจนคล้ายหมวก นำมาต่อกับส่วนที่เป็นหน้าซึ่งทำจากวัสดุหลายอย่าง  เช่นกาบใบหมาก  กาบปลีมะพร้าวบ้าง  ส่วนจมูกที่งองุ้มทำจากไม้เนื้ออ่อน  แล้ววาดลวดลายให้โดดเด่นสะดุดตา ด้วยสีที่ฉูดฉาด    ส่วนเครื่องแต่งกายนั้นมักเย็บด้วยผ้าสีฉูดฉาด   นำเศษผ้ามาเย็บติดกัน เป็นริ้วเป็นพู่ ให้โดดเด่นสะดุดตา  แล้วยังถืออาวุธที่ทำจากไม้ อาจจะเป็นมีด ขวานแล้วผูกหมากกะแหล่งใส่เอว    เพียงแค่นี้ก็ครบองค์ประกอบของการเป็นผีตาโขนที่จะเข้าร่วมในพิธีได้แล้ว เดิมนั้นเมื่อพ้นช่วงงานไปหน้ากากผีตาโขนจะถูกนำไปทิ้งด้วยเชื่อกันว่าเป็นสิ่งไม่ดี แต่ในปัจจุบันความเชื่อนี้กลับเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
     คนที่จะมาเล่นผีตาโขนนั้นมีทุกเพศ ทุกวัย แต่ดูเหมือนว่าเด็กๆ ทุกคนในด่านซ้าย ดูจะตื่นเต้นเป็นพิเศษ ทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย  ครั้นได้สวมชุดผีตาโขนเข้า เดินไปทางไหนก็ล้วนเป็นจุดสนใจของผู้คนทั้งสิ้น  ลวดลายที่วาดไปบนหน้ากากของแต่ละคนที่ถูกซ่อนถูกเก็บไว้เป็นความลับถูกนำมาอวดในวันงาน  การเดินไปมาในงานให้ช่างภาพสะดุดตาและขอถ่ายภาพถือเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่   ไม่ว่าช่างภาพคนไหน อยากให้ผีตาโขนหยุดถ่ายภาพหรือให้ทำท่าทางอย่างไร ก็ล้วนถูกตอบรับเป็นอย่างดีโดยไม่มีแบมือขอตังส์หลังถ่ายภาพ   นี่จึงอาจเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของงานแห่ผีตาโขน ที่พอถึงวันงานทีไรก็เหมือนงานชุมนุมช่างภาพน้อยใหญ่ให้มาเจอะเจอกัน
     ขบวนแห่จะเป็นเรื่องเป็นราวเมื่อมีการตั้งแถว ถือป้ายโดยสาวงามเฉกเช่นงานแห่เทศกาลทั่วๆไปบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอด่านซ้าย  เมื่อขบวนพร้อม  ขบวนแห่ผีตาโขน ก็จะเดินไปยังวัดโพนชัย  ซึ่งอยู่ห่างไปราว 1 กม. ที่วัดแห่งนี้จะมีงานบุญรอท่าอยู่ที่วัด   ขบวนแห่ผีตาโขนจะเริ่มโดยด้านหน้าขบวนจะเป็นการละเล่นควายเทียมเกวียนบ้าง  ผีตาโขนใหญ่เดินโชว์ตัว  แล้วจึงเป็นขบวนของผีตาโขนน้อยที่วาดลวดลายกันเต็มที่  ขบวนแห่ไม่ได้มีอะไรเคร่งครัด ใครอยากจะออกหรือเข้าร่วมขบวนตอนไหนก็ไม่ว่ากัน  ขบวนจะไปสิ้นสุดที่วัดโพนชัย    หลังจากนั้น จึงจะเป็นพิธีทางศาสนาต่อไป
     ผีตาโขนปลุกชีพด่านซ้าย
     จุดสำคัญของงานแห่ผีตาโขนสำหรับนักท่องเที่ยวมีเพียงเท่านี้(แต่สำหรับคนด่านซ้าย จะมีเทศน์มหาชาติอันถือเป็นงานบุญใหญ่ไปจนถึงวันรุ่งขึ้นอีกวัน)  สิ้นสุดไม่เกินบ่ายโมงในทุกๆ ปี  แต่สำหรับผู้ที่เคยไปร่วมงานได้ไปสัมผัสถึงบรรยากาศของงานจะเห็นว่า  ทั้งอำเภอด่านซ้าย    คึกคักและมีชีวิตชีวาที่สุด   ผู้คนเดินกันขวั่กไขว่ทั้งตัวตลาด โดยเฉพาะถนนที่ขบวนแห่จะผ่าน  ความตื่นตาตื่นใจของบรรดาผีตาโขนที่วันนี้มีหน้ากากผีตาโขนสีสันสดใสเป็นเครื่องประดับ  และดูสะดุดตา เป็นที่จ้องจับของบรรดาช่างภาพและนักท่องเที่ยว   เพียงเท่านี้ ผีตาโขนตัวน้อยๆ ก็ประสบความสำเร็จแล้ว  ความสำเร็จที่เป็นที่สนใจของทุกๆ คน ภายใต้หน้ากากผีตาโขน แต่สำหรับอำเภอด่านซ้าย   ความสำเร็จนานัปที่ตามมานั้นมหาศาล
     อำเภอด่านซ้ายเป็นอำเภอเล็กๆ ท่ามกลางหุบเขา ติดชายแดนลาว โดยมีแม่น้ำเล็กๆ กั้น นอกจากพระธาตุศรีสองรัก  อันเป็นพระธาตุที่ศักดิ์สิทธิ์ของคนด่านซ้ายแล้วก็แทบจะไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป  แต่สำหรับวันที่มีงานแห่ผีตาโขน   ถนนแทบทุกสายที่เดินทางสู่ด่านซ้ายได้  จะคราคร่ำไปด้วยรถยนต์ที่นำพานักเดินทางมุ่งหน้ามายังอำเภอแห่งนี้   ถนนหน้าอำเภอที่จะเป็นถนนที่ขบวนผีตาโขนผ่านจะหนาตาไปด้วยนักท่องเที่ยวตั้งแต่ตีห้า     ริมถนนแทบทุกสายในตัวอำเภอจะมีรถยนต์จอดกันแน่น และเมื่อขบวนแห่ถึงวัดโพนชัย   เมื่อนั้นก็จะเกิดการจราจรที่ติดขัด เมื่อรถทุกคันล้วนแย่งกันบ่ายหน้าออกจากอำเภอด่านซ้าย สะท้อนให้เห็นภาพที่ชัดขึ้นว่า งานนี้มีคนมาร่วมงานมากมายเพียงใด
     งานใหญ่โต  คึกคัก  และเงียบเหงาภายในเวลาไม่ถึง 6  ชั่วโมง..!
     หลังจากที่ขบวนแห่ถึงวัดโพนชัย  ก็จะเหลือเพียงชาวด่านซ้ายที่ร่วมในงานบุญที่วัด  ถนนที่ก่อนหน้านั้นคราคร่ำไปด้วยบรรดาผีตาโขนและนักท่องเที่ยวที่เดินไปมา   เสียงจ้อกแจ้กจอแจของงานแห่อันยิ่งใหญ่แทบไม่เหลือร่องรอยไว้ให้เห็นหลังจากนั้น  ถนนในอำเภอด่านซ้ายก็จะกลับคืนสู่ความเงียบเหงาตามปกติ  กลับสู่บรรยากาศของอำเภอเล็กๆ ติดชายแดนอีกครั้งหนึ่ง    ในสายตาของผมกลับมองว่า   อำเภอด่านซ้ายประสบความสำเร็จในแง่การประชาสัมพันธ์แต่ยังขาดกิจกรรมต่อเนื่องที่จะตรึงคนให้อยู่ในอำเภอด่านซ้ายต่อ เพื่อให้นักท่องเที่ยวจับจ่ายใช้สอยในอำเภอ  เพราะหลังจากขบวนแห่เสร็จสิ้น ก็เหมือนผึ้งแตกรัง แทบไม่เหลือนักท่องเที่ยวในอำเภอ  ช่วงเวลา 6-7 ชั่วโมง ที่นักท่องเที่ยวเดินทางมายังด่านซ้ายจึงเป็นช่วงเวลานาทีทองที่สินค้าและบริการต่างๆได้รับการอุดหนุนเป็นอย่างดี
นับตั้งแต่ร้านอาหารต่างๆที่จะแน่นมากในช่วงที่ขบวนแห่เสร็จสิ้นและตรงกับมื้อเที่ยงพอดี  โรงแรมที่พักที่จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาพักหนาตาในคืนก่อนวันแห่ และก็จะว่างเปล่าไปอีกนาน   ร้านขายของที่ระลึกต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับผีตาโขนจะขายดีเป็นพิเศษ แม้กระทั่งหน้ากากผีที่บรรดาผีตาโขนตัวน้อยๆ บรรจงวาดบรรจงทำ  อาจจะกลายเป็นของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยวไปก็ได้ เช่นนี้แล้วคงไม่มีใครเอาหน้ากากไปทิ้งน้ำหลังเสร็จสิ้นขบวนแห่อีกแล้ว    แต่อานิสงฆ์กลับไปตกกับแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ใกล้เคียงกับด่านซ้าย  ที่นักท่องเที่ยวล้วนมีจุดหมายปลายทางที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นภูเรือ เชียงคาน เขาค้อ  ภูหินร่องกล้า  น้ำหนาว  ก่อนจะเดินทางกลับภูมิลำเนาในเย็นวันอาทิตย์
     ปรับกลยุทธฉุดนักท่องเที่ยว
     เสียดายที่อำเภอด่านซ้ายทำการประชาสัมพันธ์ได้ดีแล้ว ทั้งนักท่องเที่ยว  สื่อสารมวลชนหลากหลายสำนัก รายการทีวี ล้วนมุ่งหน้าสู่ด่านซ้ายเพื่อชมขบวนแห่ผีตาโขน  แต่เสียดายที่ไม่ได้ฉวยโอกาสนี้ไว้ ในฐานะที่ผมท่องเที่ยวเป็นอาชีพอยู่แล้ว   เลยขออุปโลกตัวเองเป็นกูรูอยากจะแนะนำอำเภอด่านซ้ายดังนี้..
     -ควรปรับวันงานที่เดิมจะจัดเสาร์-อาทิตย์ โดยมีขบวนแห่ในวันสาร์(อันที่จริงงานจะเป็น ศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ อย่างปี 2552 นี้จัด 26-28 มิถุนายน แต่วันที่ 26 จะเป็นวันโฮมคือคล้ายๆวันเตรียมงานหรือวันสุกดิบ วันแห่จะเป็นวันเสาร์ที่ 27 วันที่ 28 จะมีแต่การเทศน์ที่วัด) นักท่องเที่ยวที่ไปจากกรุงเทพ พอเลิกงานก็จะเดินทางกลางคืนวันศุกร์ไปถึงด่านซ้ายค่อนรุ่ง ดูขบวนแห่ตอนเช้า พอบ่ายก็เดินทางไปและพักที่อื่น  วันอาทิตย์บ่ายๆ จึงเดินทางกลับ  ซึ่งแบบนี้แทนที่ร้านค้า ร้านอาหาร ที่พักในด่านซ้ายจะได้เงินจากนักท่องเที่ยวบ้าง กลับไม่ได้อะไรเลย   คนที่เขามาเพื่อจะมาดูขบวนแห่ผีตาโขนเป็นหลัก  ส่วนที่ท่องเที่ยวอื่นคือผลพลอยได้   จึงควรปรับขบวนแห่ผีตาโขนมาเป็นวันอาทิตย์น่าจะดีกว่า เพราะนักท่องเที่ยวเอง แทนที่จะเดินทางไปด่านซ้ายตอนกลางคืนวันศุกร์ เพื่อให้ทันดูขบวนแห่เช้าวันเสาร์  ซึ่งแบบนี้จะเหนื่อยคนเดินทาง
แต่ถ้าเขาเดินทางเช้าวันเสาร์ จะไปถึงด่านซ้ายบ่ายๆ  เพื่อที่จะดูขบวนแห่เช้า นักท่องเที่ยวจำเป็นต้องพักที่ด่านซ้าย เพื่อที่เช้าๆจะได้ไม่ต้องเดินทางไกลเพื่อมาให้ทันขบวนแห่  เมื่อนักท่องเที่ยวมาพักที่ด่านซ้าย ทางอำเภอก็สามารถจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ต่างๆได้  หรือจะจัดเวที มีงานเลี้ยงอาหารเย็นแบบพื้นเมือง  โชว์วัฒนธรรมท้องถิ่นก็ได้ หรือตอนกลางคืนจะปิดถนนหน้าอำเภอ จัดเป็นถนนสายวัฒนธรรม ให้นักท่องเที่ยวเดินชทมวัฒนธรรมอุดหนุนสินค้าพื้นเมืองอะไรก็ได้   (ทุกวันนี้จัดซุ้มประชาสัมพันธ์ เช้าวันที่มีขบวนแห่ นักท่องเที่ยวเขาก็ไปสนใจขบวนแห่หมด ซุ้มประชาสัมพันธ์เลยไม่ค่อยมีคนสนใจ ยิ่งพอขบวนแห่เลิก นักท่องเที่ยวเผ่นออกจากด่านซ้าย ซุ้มประชาสัมพันธ์ยิ่งไม่มีคนดู)
     -เมื่อมีนักท่องเที่ยวมาพักเพื่อที่จะรอชมขบวนแห่ตอนเช้า อาจจะจัดให้มีที่พักแบบโฮมสเตย์ ให้นักท่องเที่ยวพักบ้านชาวบ้านด้วย  ในระหว่างนี้ แต่ละบ้านก็จะทำหน้ากากผีตาโขน นักท่องเที่ยวที่มาพัก ก็จะได้ร่วมทำหน้ากาก หรือจะเอาหน้ากากเข้าร่วมในขบวนแห่ก็ได้ อีกทั้งหน้ากากที่เขาทำเขาจะเอากลับเป็นที่ระลึกก็ได้  แบบนี้จะเป็นการท่องเที่ยวที่ให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าร่วมในกิจกรรมท่องเที่ยวได้    นักท่องเที่ยวก็จะเกิดความประทับใจและอยากมาร่วมงานอีก  (ในขณะที่ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจะแค่มาเห็นขบวนแห่  ถ่ายรูป แล้วก็กลับ  แล้วถ้าลองทำการสำรวจนักท่องเที่ยวที่เคยไปงานที่มีขบวนแห่ทั้งหลายเช่น แห่เทียนเข้าพรรษาที่อุบล  แห่บั้งไฟที่ยโสธร ฯลฯ   นักท่องเที่ยวมักจะไม่ค่อยไปซ้ำ เพราะรูปแบบจะเหมือนกันทุกปี  แต่ถ้าให้เขาร่วมในกิจกรรม โดยเฉพาะชาวต่างชาติจะชื่นชอบการมีกิจกรรมในการท่องเที่ยวมาก)
     -นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติหรือที่ไม่มีรถส่วนตัวมา ให้จัดเป็นทริพเล็กๆใน 1 วันให้เขา โดยอาจจะขายบัตรทัวร์วัฒนธรรมหรือทัวร์ธรรมชาติในบริเวณต่างๆที่อยู่ใกล้เคียงกับด่านซ้ายก็ได้ แล้วพาเขากลับมาพักในด่านซ้าย เพื่อให้มาร่วมงานตอนกลางคืนและตรึงให้เขารอดูขบวนแห่ตอนเช้า  โดยอาจจะจัดการเรื่องการเดินทาง  การท่องเที่ยว  ที่พัก อาหารให้เขาจนจบรายการก็ได้  
     อย่าลืมว่าหลักของการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวคือ ให้นักท่องเที่ยวอยู่กับเราให้นานที่สุด  เขาก็จะจับจ่ายมากที่สุด  คนมาเที่ยวบ้านเราแล้วไม่ได้อะไรจากเขาสักอย่าง แบบนี้เสียดายโอกาส
     ระวัง...ประเพณีที่ผิดเพี้ยน
     ผมไปดูงานผีตาโขนมา 3 ครั้ง  เห็นสิ่งที่ขัดตาหลายอย่างเช่น   ขบวนแห่ที่ผีตาโขนบางตน โดยเฉพาะผู้ใหญ่   มักแสดงอาการส่อไปทางลามก เช่น การถืออาวุธที่มักทำเป็นปลัดขิกอันใหญ่ พอเจอสาวๆ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ   ทำท่าไปชักเข้าชักออกใส่เขาแบบนี้ดูออกจะไม่งาม   เพราะขบวนผีตาโขนจัดมาในงานบุญ  เมื่อเป็นงานบุญก็ควรแสดงตนให้มันสมเป็นงานบุญ  จะได้เป็นที่กล่าวขานในทางที่ดีของคนต่างถิ่น อย่าทำให้วัฒนธรรมเพี้ยนไปด้วยการกระทำที่เราอ้างงานบุญมาบังหน้าแล้วแสดงอาการไม่เหมาะสมออกมา   อีกทั้งบรรดาผีผู้ใหญ่ที่มักต้องเมาสุราจึงจะออกมาร่วมขบวน  แห่ขบวนไป กระดกขวดเหล้าไป  ดูก็ไม่งามนัก   สมควรที่ทางอำเภอหรือผู้ที่เกี่ยวข้องควรจะไปปรับปรุง  หนึ่งปีมีงานนี้งานเดียวที่คนเขามาเที่ยวด่านซ้าย ลองดูสิว่าจะรักษาไว้ได้ไหม    แต่สำหรับผีเด็กๆ นั้นน่ารักมาก สังเกตดูเด็กๆ นักเรียนในด่านซ้านจะแต่งเป็นผีตาโขนเด็กๆ กัน ซึ่งนักท่องเที่ยวและช่างภาพก็ชอบกันเสียด้วย
..
..
     เที่ยวที่ไหนใกล้ด่านซ้าย
     ในการจัดงานที่ผ่านๆ มา ขบวนแห่จะเสร็จในเที่ยงวันเสาร์ คนที่ไปเที่ยวในวันหยุดจะมีเวลาว่าง 1 วันครึ่ง    จึงอยากแนะนำเส้นทางท่องเที่ยวต่อเนื่องจากด่านซ้ายคือ....
     * เส้นทางที่หนึ่ง  ด่านซ้าย-อุทยานฯ นาแห้ว
     จากด่านซ้าย มุ่งหน้าไปทางนาแห้ว   ถึงอำเภอนาแห้วแวะเที่ยวธารสวรรค์ (อยู่หลังโรงเรียนนาแห้ววิทยา) แล้วมุ่งหน้าอุทยานฯนาแห้ว  เที่ยวน้ำตกคลิ้ง น้ำตกช้างตก  น้ำตกวังตาด  (น้ำตกทั้ง 3 แห่งอยู่ริมถนน เดินไม่มาก) ไปพักแรมที่อุทยานฯนาแห้ว  (มีร้านอาหาร ที่กางเต็นท์ บ้านพัก ไว้บริการ )  เช้าวันอาทิตย์ เที่ยววนไปทางเนิน 1408 ,1200  ภูสวนทราย เพื่อชมทิวทัศน์ไทย-ลาว  แล้วแวะน้ำตกตาดเหือง   ไหว้พระธาตุดินแทน  เข้านาแห้วระหว่างทางกลับด่านซ้าย แวะเที่ยววัดโพธิ์ชัย มีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม รวมทั้งจิตรกรรมฝาผนังที่น่าแวะเข้าไปชมมาก    กลับเข้าด่านซ้าย แวะไหว้พระธาตุศรีสองรัก แล้วเข้าหล่มสัก เดินทางเข้ากรุงเทพ  ทางลาดยางตลอดสาย เดินทางสะดวก
     * เส้นทางที่สอง  ด่านซ้าย-ภูเรือ-น้ำตกปลาบ่า-น้ำตกสองคอน-เกษตรที่สูงภูเรือ-อุทยานฯ ภูเรือ
      จากด่านซ้าย มุ่งหน้าทางภูเรือ เลี้ยวเข้าน้ำตกปลาบ่า แล้วไปน้ำตกสองคอน   (น้ำตกปลาบ่าอยู่ใกล้ลานจอดรถ แต่น้ำตกสองคอนจะต้องเดินราว 500 ม. น้ำตกทั้งสองแห่งสวยงาม มีน้ำมาก)  แล้วไปพักแรมที่เกษตรที่สูงภูเรือ ที่มีไม้ดอกไม้ประดับ ตกแต่งพื้นที่สวยงาม   มีลานกางเต็นท์  บ้านพัก ร้านอาหาร ไว้บริการ   เช้าในอาทิตย์กลับเข้าภูเรือ เที่ยวอุทยานฯภูเรือ ช่วงนี้ดอกเปราะภูกำลังบาน   แล้วจึงกลับกรุงเทพ  (หรือจะเปลี่ยนจากอุทยานฯภูเรือ เป็นไปชมเปราะภูบานบนภูหลวงทางหน่วยฯ โคกนกกระบาก็ได้ แต่ภูหลวงรถเก่งจะขึ้นลำบาก)
     * เส้นทางที่สาม ด่านซ้าย-ภูทับเบิก-หล่มสัก
     เส้นทางสายนี้ออกจากด่านซ้าย ไปหล่มสัก แล้วไปหล่มเก่า เลี้ยวขึ้นภูหินร่องกล้าทางหล่มเก่า ไปพักแรมที่ภูทับเบิก ชมทะเลหมอกยามเช้าบนยอดภูทับเบิก (มีลานกางเต็นท์  ที่พัก  ร้านอาหารบริการ หรือถ้ามีเวลามากกว่านี้จะไปเที่ยวภูหินร่องกล้าแล้วพักแรมที่ภูหินร่องกล้าเพิ่มอีกคืนก็ได้ ช่วงนี้ดอกไม้บนภูหินร่องกล้าหลายชนิดกำลังบานสะพรั่ง  แต่ไม่แนะนำเส้นทางนี้สำหรับรถเก๋งหรือผู้ที่ไม่ชำนาญทาง เพราะเส้นทางขึ้นเขาชัน คดโค้งและสภาพทางไม่ดี
     * เส้นทางที่สี่ ด่านซ้าย-ภูเรือ-ภูหลวง-เมืองเลย-กุ้ยหลินเมืองไทย-น้ำตกตาดฮ้อง-ชุมแพ
     จากด่านซ้าย แวะเที่ยวภูเรือ-ภูหลวง แล้วหาที่พักในภูเรือหรือจะเข้าไปพักในเมืองเลยก็ได้  เช้าวันอาทิตย์ ไป อ.หนองหิน เข้าไปเที่ยวสวนหินผางามหรือกุ้ยหลินเมืองเลย    แล้วมาแวะเที่ยวน้ำตกตาดฮ้องของ อช.ภูกระดึง   ถ้ายังมีเวลาจะแวะเที่ยวน้ำตกพลาญทอง ของอุทยานฯภูผาม่านก็ได้(ใช้ตั๋วอันเดียวกับที่เข้าไปเที่ยวน้ำตกตาดฮ้อง)  ช่วงนี้น้ำตกทั้งสองแห่งกำลังสวย แล้วเข้าชุมแพ เดินทางกลับ
     ** ไม่แนะนำให้ไปเที่ยวแก่งคุดคู้ช่วงนี้ เพราะน้ำมาก ท่วมแก่งหมด ไปก็เห็นแต่แม่น้ำโขง แต่ถ้าตั้งใจไป ก็ไม่ว่ากันครับ
     ** สอบถามวัน/เวลา การจัดงานผีตาโขนได้ที่ ที่ว่าการอำเภอด่านซ้าย   โทร. 042-891-266..
................................................................................
*** ไปให้รู้จัก   แล้วจะรักเมืองไทย ***



ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก คมฉาน_ตะวันฉาย

ประเพณีแห่ผีตาโขน

ผีตาโขน วัดโพนชัย ด่านซ้าย จังหวัดเลย
ประเพณีแห่ผีตาโขน
• ประเพณีแห่ผีตาโขน จัดเป็นส่วนหนึ่งในงานบุญประเพณีใหญ่หรือที่เรียกว่า
"งานบุญหลวง" หรือ "บุญผะเหวด" ซึ่งตรงกับเดือน 7 มีขึ้นที่อำเภอด่านซ้าย
จังหวัดเลย และจัดเป็นการละเล่นที่ถือเป็นประเพณีทุกปี เกี่ยวโยงกับงาน
บุญพระเวสหรือเทศน์มหาชาติประจำปีกับพระธาตุเจดีย์สองรัก ปูชนียสถาน
สำคัญของชาวด่านซ้าย



ต้นกำเนิดผีตาโขน
• กล่าวกันว่า การแห่ผีตาโขนเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระเวสสันดรและนางมัทรีจะ
เดินทางออกจากป่า กลับสู่เมืองบรรดาผีป่าหลายตนและสัตว์นานาชนิด
อาลัยรักจึงพาแห่แหนแฝงตัวแฝงตน มากับชาวบ้านเพื่อมาส่งทั้งสองพระองค์
กลับเมือง เรียกกันว่า "ผีตามคน" หรือ "ผีตาขน" จนกลายมาเป็น "ผีตาโขน"
อย่างในปัจจุบัน 



ชนิดของผีตาโขน
• ผีตาโขน ในขบวนแห่จะแยกเป็น 2 ชนิดคือ ผีตาโขนใหญ่และผีตาโขนเล็ก 



• ผีตาโขนใหญ่ ทำเป็นหุ่นรูปผีทำจากไม้ไผ่สานมีขนาดใหญ่กว่าคนธรรมดา
ประมาณ 2 เท่าประดับตกแต่งรูปร่างหน้าตาด้วยเศษวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น
เวลาแห่ คนเล่นจะต้องเข้าไปอยู่ข้างในตัวหุ่น แต่ละปีจะทำผีตาโขนใหญ่เพียง
2 ตัว คือผีตาโขนชาย1ตัวและหญิง1ตัว สังเกตจากเครื่องเพศปรากฏชัดเจน
ที่ตัวหุ่น ผู้มีหน้าที่ทำผีตาโขนใหญ่จะมีเฉพาะกลุ่มเท่านั้น เพราะคนอื่นไม่มีสิทธิ์
ทำ การทำก็ต้องได้รับอนุญาตจากผีหรือเจ้าก่อน ถ้าได้รับอนุญาตแล้วต้องทำ
ทุกปีหรือทำติดต่อกันอย่างน้อย 3 ปี

(ขออภัย ภาพไม่ตรงกับบทความ ) 



• ผีตาโขนเล็ก ผีตาโขนเล็กเป็นการละเล่นของเด็ก ไม่ว่าเด็กเล็ก เด็กวัยรุ่น
หรือผู้ใหญ่ ทั้งผู้หญิงชาย มีสิทธิ์ทำและเข้าร่วมสนุกได้ทุกคน แต่ผู้หญิง
ไม่ค่อยเข้าร่วมเพราะเป็นการเล่นค่อนข้างผาดโผนและซุกซน



การแต่งกายผีตาโขน
• ผู้เข้าร่วมในพิธีนี้จะแต่งกายคล้ายผีและปีศาจใส่หน้ากากขนาดใหญ่ ทำจาก
กาบมะพร้าวแกะสลักและ สวมศีรษะด้วยกระติ๊บข้าวเหนียว ในขบวนแห่จะ
ประกอบไปด้วยการร้องรำทำเพลงอย่างสนุกสนาน 



การละเล่นผีตาโขน
• เนื่องจากงานประเพณีผีตาโขนเป็นงานบุญใหญ่ซึ่งเรียกกันว่างานบุญหลวง
จัดขึ้นที่วัดโพนชัย อ.ด่านซ้าย โดยมีการละเล่นผีตาโขน มีการเทศน์มหาชาติ
มีการทำบุญพระธาตุศรีสองรักและงานบุญต่างๆเข้ามาผสมอยู่รวมๆกัน จึงมี
การจัดงานกัน 3 วัน 



• วันแรก เริ่มพิธีตอนเช้า 04.00-05.00 น. คณะแสนหรือข้าทาสบริวารของ
ขันแปด(พานดอกไม้ 5 คู่ หรือ 8 คู่) ถือเดินนำขบวนไปที่ริมแม่น้ำหมัน เพื่อ
นิมนต์พระอุปคุตต์ พระผู้มีฤทธานุภาพมาก และมักเนรมิตกายอยู่ในมหา
สมุทร เพื่อป้องกันภัยอันตราย และให้เกิดความสุขสวัสดี เมื่อถึงแล้วผู้
อันเชิญต้องกล่าวพระคาถาและให้อีกคนลงไปในน้ำ งมก้อนหินใต้น้ำขึ้นมา
ถามว่า "ใช่พระอุปคุตต์หรือไม่" ผู้ที่ยืนอยู่บนฝั่งตอบว่า "ไม่ใช่" พอก้อนหินก้อน
ที่ 3 ให้ตอบว่า "ใช่ นั่นแหละพระอุปคุตต์ที่แท้จริง" เมื่อได้พระอุปคุตต์มาแล้ว 
ก็นำใส่พาน แล้วนำขบวนกลับที่หอพระอุปคุตต์ ทำการทักขิณาวัฏ 3 รอบ
มีการยิงปืนและจุดประทัด ซึ่งช่วงเวลานั้นบรรดาผีตาโขนที่นอนหลับหรือ
อยู่ตามที่ต่างๆก็จะมาร่วมขบวนด้วยความยินดีปรีดา เต้นรำ เข้าจังหวะกับ
เสียงหมากกระแร่ง ซึ่งเป็นกระดิ่งผูกคอวัวหรือกระดิ่งให้ดังเสียงดัง



• วันที่สอง เป็นพิธีแห่พระเวส ในขบวนประกอบด้วย พระพุทธรูป 1 องค์ 
พระสงฆ์ 4 รูป นั่งบนแคร่หามตามด้วย เจ้าพ่อกวน นั่งอยู่บนกระบอกบั้งไฟ
ท้ายขบวนเป็นเจ้าแม่นางเทียม กับบริวาร ชาวบ้าน และเหล่าผีตาโขน เดิน
ตามเสด็จไปรอบเมือง ก่อนตะวันตกดิน สำหรับคนที่เล่นเป็นผีตาโขนใหญ่
ต้องถอดเครื่องแต่งกายผีตาโขนใหญ่ออกให้หมดและนำไปทิ้งในแม่น้ำหมัน 
ห้ามนำเข้าบ้าน เป็นการทิ้งความทุกข์ยากและสิ่งเลวร้ายไป รอจนปีหน้าฟ้า
ใหม่แล้วค่อยทำเล่นกันใหม่



• วันที่สาม เป็นการรวมเอางานบุญประเพณีประจำเดือนต่างๆของปีมารวม
กันจัดในงานบุญหลวง ประชาชนจะมานั่งฟังเทศน์มหาชาติ 13 กัณฑ์ ที่วัด
โพนชัย เพื่อเป็นการสร้างกุศลและเป็นมงคลแก่ชีวิต

<a href="http://www.oceansmile.com/E/Leo/Pheetakhon.htm' target='_blank'>http://www.oceansmile.com/E/Leo/Pheetakhon.htm



ย่าไปกับห้องกล้องหัวฟู โดยเดินทางคืนวันที่ 3 ถึง วันที่ 4และ 5



ไปถึงก็ตลุยงาน หลังจะแวะไหว้พระ ที่พระธาตุศรีสองรัก
หลังจากนั้นก็ดิ่งมาที่งานที่วัดโพนชัย 



ชาวต่างชาติก็ให้ความสนใจมาเที่ยวชมงานนี้ด้วย



สีสดใสมาก 



เต้นกันสนุกสนาน



ลวดลวดลายสวยงาม จมูกทำจากไม้เนื้ออ่อนนำมาเหลาให้ได้รูปทรงสวยงาม
แล้วนำมายึดติดกับกาบมะพร้าวที่ตัดแต่งทำเป็นส่วนหน้ากาก 



ผู้ชมที่มาร่วมงาน แต่งตัวกันสวยงาม 



ทีมนี้เป็นทีมที่ออกมาเต้นแรกสุด สีแรงสุดๆๆ



ดูหน้าชัดๆๆ มีถือตุ๊กตาผีตาโขนมาด้วย 
ผีเด็กเจอะผีผู้ใหญ่



ดูลวดลายบนหน้ากากชัดๆๆ 



อีกสไตล์หนึ่ง 



แอ๊คท่าให้ถ่ายรูป



ไว้ต่อตอนสองนะคะ 

วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2555

วันลอยกระทง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12



ลอยกระทง
ลอยกระทง


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม 


          ใกล้ถึงเทศกาลวันลอยกระทง 2554 กันแล้ว ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 10 พฤศจิกายน …เชื่อว่าหลายคนคงเตรียมตัวควงหวานใจ หรือพาครอบครัวไปลอยกระทงร่วมกันที่ใดที่หนึ่งแล้ว อ๊ะ ๆ ...แต่ก่อนที่จะไปลอยกระทงกันนั้น เรามาทำความรู้จักประเพณีลอยกระทงให้ถ่องแท้กันก่อนดีกว่าค่ะ จะได้เข้าใจถึงจุดมุ่งหมายของประเพณีอย่างแท้จริง 
กำหนดวันลอยกระทง

          วันลอยกระทงของทุกปีจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย หรือถ้าเป็นปฏิทินจันทรคติล้านนาจะตรงกับเดือนยี่ และหากเป็นปฏิทินสุริยคติจะราวเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเดือน 12 นี้เป็นช่วงต้นฤดูหนาว อากาศจึงเย็นสบาย และอยู่ในช่วงฤดูน้ำหลาก มีน้ำขี้นเต็มฝั่ง ทำให้เห็นสายน้ำอย่างชัดเจน อีกทั้งวันขึ้น 15 ค่ำ เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวง ทำให้สามารถเห็นแม่น้ำที่มีแสงจันทร์ส่องกระทบลงมา เป็นภาพที่ดูงดงามเหมาะแก่การชมเป็นอย่างยิ่ง

ประวัติความเป็นมาของวันลอยกระทง
ลอยกระทง

          ประเพณีลอยกระทงนั้น ไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดว่าเริ่มตั้งแต่เมื่อใด แต่เชื่อว่าประเพณีนี้ได้สืบต่อกันมายาวนานตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง เรียกประเพณีลอยกระทงนี้ว่า"พิธีจองเปรียญ" หรือ "การลอยพระประทีป" และมีหลักฐานจากศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวถึงงานเผาเทียนเล่นไฟว่าเป็นงานรื่นเริงที่ใหญ่ที่สุดของกรุงสุโขทัย ทำให้เชื่อกันว่างานดังกล่าวน่าจะเป็นงานลอยกระทงอย่างแน่นอน

          ในสมัยก่อนนั้นพิธีลอยกระทงจะเป็นการลอยโคม โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสันนิษฐานว่า พิธีลอยกระทงเป็นพิธีของพราหมณ์ จัดขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้า 3 องค์ คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ต่อมาได้นำพระพุทธศาสนาเข้าไปเกี่ยวข้อง จึงให้มีการชักโคม เพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และลอยโคมเพื่อบูชารอยพระบาทของพระพุทธเจ้า 
          ก่อนที่นางนพมาศ หรือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ สนมเอกของพระร่วงจะคิดค้นประดิษฐ์กระทงดอกบัวขึ้นเป็นคนแรกแทนการลอยโคม ดังปรากฎในหนังสือนางนพมาศที่ว่า

          "ครั้นวันเพ็ญเดือน 12 ข้าน้อยได้กระทำโคมลอย คิดตกแต่งให้งามประหลาดกว่าโคมสนมกำนัลทั้งปวงจึงเลือกผกาเกษรสีต่าง ๆ มาประดับเป็นรูปกระมุทกลีบบานรับแสงจันทร์ใหญ่ประมาณเท่ากงระแทะ ล้วนแต่พรรณดอกไม้ซ้อนสีสลับให้ป็นลวดลาย..."

          เมื่อสมเด็จพระร่วงเจ้าได้เสด็จฯ ทางชลมารค ทอดพระเนตรกระทงของนางนพมาศก็ทรงพอพระราชหฤทัย จึงโปรดให้ถือเป็นเยี่ยงอย่าง และให้จัดประเพณีลอยกระทงขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยให้ใช้กระทงดอกบัวแทนโคมลอย ดังพระราชดำรัสที่ว่า "ตั้งแต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศถึงกาลกำหนดนักขัตตฤกษ์วันเพ็ญเดือน 12 ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานทีตราบเท่ากัลปาวสาน" พิธีลอยกระทงจึงเปลี่ยนรูปแบบตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

          ประเพณีลอยกระทงสืบต่อกันเรื่อยมา จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สมัยรัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 3 พระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนขุนนางนิยมประดิษฐ์กระทงใหญ่เพื่อประกวดประชันกัน ซึ่งต้องใช้แรงคนและเงินจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลือง จึงโปรดให้ยกเลิกการประดิษฐ์กระทงใหญ่แข่งขัน และโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ทำเรือลอยประทีปถวายองค์ละลำแทนกระทงใหญ่ และเรียกชื่อว่า "เรือลอยประทีป" ต่อมาในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีนี้ขึ้นมาอีกครั้ง ปัจจุบันการลอยพระประทีปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงกระทำเป็นการส่วนพระองค์ตามพระราชอัธยาศัย

เหตุผลและความเชื่อของการลอยกระทง 
          สาเหตุที่มีประเพณีลอยกระทงขึ้นนั้น เกิดจากความเชื่อหลาย ๆ ประการของแต่ละท้องที่ ได้แก่

          1.เพื่อแสดงความสำนึกถึงบุญคุณของแม่น้ำที่ให้เราได้อาศัยน้ำกิน น้ำใช้ ตลอดจนเป็นการขอขมาต่อพระแม่คงคา ที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ลงไปในน้ำ อันเป็นสาเหตุให้แหล่งน้ำไม่สะอาด

          2.เพื่อเป็นการสักการะรอยพระพุทธบาทนัมมทานที เมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ และได้ทรงประทับรอยพระบาทไว้บนหาดทรายแม่น้ำนัมมทานที ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ในแคว้นทักขิณาบถของประเทศอินเดีย ปัจจุบันเรียกว่าแม่น้ำเนรพุทท

          3.เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ เพราะการลอยกระทงเปรียบเหมือนการลอยความทุกข์ ความโศกเศร้า โรคภัยไข้เจ็บ และสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ให้ลอยตามแม่น้ำไปกับกระทง คล้ายกับพิธีลอยบาปของพราหมณ์

          4.เพื่อเป็นการบูชาพระอุปคุต ที่ชาวไทยภาคเหนือให้ความเคารพ ซึ่งบำเพ็ญเพียรบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึกหรือสะดือทะเล โดยมีตำนานเล่าว่าพระอุปคุตเป็นพระมหาเถระรูปหนึ่งที่มีอิทธิฤทธิ์มาก สามารถปราบพญามารได้ 

          5.เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมของไทยไว้มิให้สูญหายไปตามกาลเวลา และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

          6.เพื่อความบันเทิงเริงใจ เนื่องจากการลอยกระทงเป็นการนัดพบปะสังสรรค์กันในหมู่ผู้ไปร่วมงาน

          7.เพื่อส่งเสริมงานฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ เพราะเมื่อมีเทศกาลลอยกระทง มักจะมีการประกวดกระทงแข่งกัน ทำให้ผู้เข้าร่วมได้เกิดความคิดแปลกใหม่ และยังรักษาภูมิปัญหาพื้นบ้านไว้อีกด้วย

ประเพณีลอยกระทงในแต่ละภาค

          ลักษณะการจัดงานลอยกระทงของแต่ละจังหวัด และแต่ละภาคจะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันคือ

ลอยกระทง


           ภาคเหนือ (ตอนบน) จะเรียกประเพณีลอยกระทงว่า "ยี่เป็ง" อันหมายถึงการทำบุญในวันเพ็ญเดือนยี่  (เดือนยี่ถ้านับตามล้านนาจะตรงกับเดือนสิบสองในแบบไทย) โดยชาวเหนือจะนิยมประดิษฐ์โคมลอย หรือที่เรียกว่า "ว่าวฮม" หรือ "ว่าวควัน" โดยการใช้ผ้าบางๆ แล้วสุมควันข้างใต้ ให้โคมลอยขึ้นไปในอากาศ เพื่อเป็นการบูชาพระอุปคุตต์ ซึ่งเชื่อกันว่าท่านบำเพ็ญบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึก หรือสะดือทะเล ตรงกับคติของชาวพม่า

ลอยกระทง

           จังหวัดตาก จะประดิษฐ์กระทงขนาดเล็ก แล้วปล่อยลอยไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้เรียงรายเป็นสาย เรียกว่า "กระทงสาย"
 
ลอยกระทง



           จังหวัดสุโขทัย เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีชื่อเสียงในเรื่องประเพณีลอยกระทง ด้วยความเป็นจังหวัดต้นกำเนิดของประเพณีนี้ โดยการจัดงาน ลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ ที่จังหวัดสุโขทัยถูกฟื้นฟูกลับมาอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ.2520 ซึ่งจำลองบรรยากาศงานมาจากงานลอยกระทงสมัยกรุงสุโขทัย และหลังจากนั้นก็มีการจัดงานลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟขึ้นที่จังหวัดสุโขทัยทุก ๆ ปี มีทั้งการจัดขบวนแห่โคมชักโคมแขวน การเล่นพลุตะไล และไฟพะเนียง
ลอยกระทง

           ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ งานลอยกระทงจะเรียกว่า เทศกาลไหลเรือไฟ โดยจัดเป็นประเพณียิ่งใหญ่ทุกปีในจังหวัดนครพนม มีการนำหยวกกล้วย หรือวัสดุต่าง ๆ มาตกแต่งเรือ และประดับไฟอย่างสวยงาม และตอนกลางคืนจะมีการจุดไฟปล่อยกระทงให้ไหลไปตามลำน้ำโขง 

           กรุงเทพมหานคร มีการจัดงานลอยกระทงหลายแห่ง แต่ที่เป็นไฮไลท์อยู่ที่ "งานภูเขาทอง" ที่จะเนรมิตงานวัดเพื่อเฉลิมฉลองประเพณีลอยกระทง ส่วนใหญ่จัดอยู่ราว 7-10 วัน ตั้งแต่ก่อนวันลอยกระทง จนถึงหลังวันลอยกระทง
ลอยกระทง

           ภาคใต้ มีการจัดงานลอยกระทงในหลาย ๆ จังหวัด เช่น อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่มีงานยิ่งใหญ่ทุกปี


กิจกรรมในวันลอยกระทง 
          ในปัจจุบันมีการจัดงานลอยกระทงทุก ๆ จังหวัด ซึ่งจะมีกิจกรรมแตกต่างกันไปในแต่ละสถานที่ แต่กิจกรรมที่มีเหมือน ๆ กันก็คือ การประดิษฐ์กระทง โดยนำวัสดุต่าง ๆ ทั้งหยวกกล้วย ใบตอง หรือจะเป็นกาบพลับพลึง เปลือกมะพร้าว ฯลฯ มาประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ ธูป เทียน เครื่องสักการบูชา ให้เป็นกระทงที่สวยงาม ภายหลังมีการใช้วัสดุโฟมที่สามารถประดิษฐ์กระทงได้ง่าย แต่จะทำให้เกิดขยะที่ย่อยสลายยากขึ้น จึงมีการรณรงค์ให้เลิกใช้กระทงโฟมเพื่อพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ก่อนจะมีการดัดแปลงวัสดุทำกระทงให้หลากหลายขึ้น เช่น กระทงขนมปัง กระทงกระดาษ กระทงพลาสติกชนิดพิเศษ เพื่อให้ย่อยสลายง่ายและไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม
ลอยกระทง

ลอยกระทง

ลอยกระทง

          เมื่อไปถึงสถานที่ลอยกระทง ก่อนทำการลอยก็จะอธิษฐานในสิ่งที่ปรารถนาขอให้ประสบความสำเร็จ หรือเสี่ยงทายในสิ่งต่าง ๆ จากนั้นจึงปล่อยกระทงให้ลอยไปตามสายน้ำ และในกระทงมักนิยมใส่เงินลงไปด้วย เพราะเชื่อกันว่าเป็นการบูชาพระแม่คงคา

          นอกจากการลอยกระทงแล้ว มักมีกิจกรรมประกวดนางนพมาศอันเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของประเพณีลอยกระทง และตามสถานที่จัดงานจะมีการประกวดกระทง ขบวนแห่ มหรสพสมโภชต่าง ๆ บางแห่งอาจมีการจุดพลุ ดอกไม้ไฟเฉลิมฉลองด้วย
ลอยกระทง



เพลงประจำเทศกาลลอยกระทง

          เมื่อเราได้ยินเพลง "รำวงลอยกระทง" ที่ขึ้นต้นว่า "วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำนองเต็มตลิ่ง..." นั่นเป็นสัญญาณว่าใกล้จะถึงวันลอยกระทงแล้ว ซึ่งเพลงนี้เป็นที่คุ้นหูของทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ เพราะในต่างประเทศมักเปิดเพลงนี้ต้อนรับนักท่องเที่ยว เพื่อแสดงถึงความเป็นประเทศไทย

          เพลงรำวงวันลอยกระทงแต่งโดยครูแก้ว อัจฉริยกุล ผู้ให้ทำนองคือ ครูเอื้อ สุนทรสนาน แห่งสุนทราภรณ์ ซึ่งครูเอื้อได้แต่งเพลงนี้ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2498 ขณะที่ได้ไปบรรเลงเพลงที่บริเวณคณะบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีผู้ขอเพลงจากครูเอื้อ ครูเอื้อจึงนั่งแต่งเพลงนี้ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในระยะเวลาเพียงครึ่งชั่วโมงจึงเกิดเป็นเพลง "รำวงลอยกระทง" ที่ติดหูกันมาทุกวันนี้ มีเนื้อร้องว่า

          วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำนองเต็มตลิ่ง 
          เราทั้งหลายชายหญิง 
          สนุกกันจริง วันลอยกระทง 
          ลอย ลอยกระทง ลอย ลอยกระทง 
          ลอยกระทงกันแล้ว 
          ขอเชิญน้องแก้วออกมารำวง 
          รำวงวันลอยกระทง รำวงวันลอยกระทง 
          บุญจะส่งให้เราสุขใจ บุญจะส่งให้เราสุขใจ 

          เอ้า... ใครที่ยังไม่มีโปรแกรมไปเที่ยวที่ไหน ก็อย่าลืมชวนครอบครัว หรือเพื่อน ๆ มาร่วมกันสานต่อประเพณีที่ดีงามนี้ไว้นะค่ะ อ่อ... และอย่าลืมใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติด้วยล่ะ เพราะนอกจากจะไปลอยกระทงเพื่ออนุรักษ์ประเพณีแล้ว ยังจะเป็นการช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติไว้อีกต่อหนึ่งด้วยค่ะ 

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก http://hilight.kapook.com/view/30438