วันพุธที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ประติมากรรมไทยสมัยอู่ทองและสมัยอยุธยา



   ประติมากรรมสมัยอู่ทองเป็นประติมากรรมที่สร้างขึ้นในสมัยอโยธยาเป็นศูนย์กลางของอาณาจักร เกิดขึ้นประมาณ พ.ศ. ๑๓๐๐-๑๘๙๗ และประติมากรรมสมัยอยุธยาเกิดขึ้นประมาณ  พ.ศ. ๑๘๙๓-๒๓๑๐  ประติมากรรมอู่ทองปูรากฐานให้แก่ประติมากรรมสมัยอยุธยาตอนต้นโดยตรงเพราะศิลปะอู่ทองมีการทำสืบต่อไปจนถึงแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
หัวข้อ
-อู่ทองและอยุธยายุคต้น
-อยุธยายุคกลาง
-อยุธยายุคปลาย 
อู่ทองและอยุธยายุคต้น
    อู่ทองและอยุธยายุคต้น ในยุคนี้มีการสร้างพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะผสมผสานพระพุทธรูปสมัยทวารวดี สมัยลพบุรี และศิลปะของชนพื้นเมืองอโยธยาเอง มีพุทธลักษณะเด่นชัดคือวงพระพักตร์เป็นสี่เหลี่ยม มีไรพระศกเป็นกรอบวงพักตร์พระหนุป้านเป็นรูปคางคน พระนาสิกเป็นสันคม พระขนงชัดเจนเป็นเส้นกระด้างคล้ายปีกนกบรรจบกัน  ปริมาตรของพระพักตร์ดูแบนขมวดพระเกศามีขนาดเล็กเป็นจุด พระรัศมีมีทั้งทำอย่างเป็นต่อมและทำเป็นเปลว ผ้าครองทำชายสังฆาฏิยาวนิยมนั่งขัดสมาธิราบ ฐานหน้ากระดานเป็นร่องและแอ่นเข้าข้างใน เนื้อโลหะสำริดหล่อได้บางเป็นพิเศษ นอกจากนั้นยังพบพระพุทธรูปสลักศิลา เช่น พระพุทธรูปที่พระระเบียงวัดมหาธาตุ ลพบุรี พระพุทธรูปที่วิหารหน้าสถูปใหญ่วัดนครโกษา ลพบุรี และพระพุทธรูปที่วัดใหญ่ชัยมงคล  อยุธยา เป็นต้น
          ภาพสลักศิลาและภาพปูนปั้นต่างๆ ลักษณะลายเป็นแบบประดิษฐ์มากกว่าสมัยลพบุรี  ลายสลักศิลารอบฐานชุกชีในพระวิหารใหญ่หน้าพระปรางค์วัดมหาธาตุ อยุธยา เป็นลายขมวดเถาไม้ใบไม้ กลีบบัว ลวดลายยังเป็นแบบกึ่งประดิษฐ์กึ่งธรรมชาติ ยังไม่เข้ารูปเป็นลายกนกเลยทีเดียว

 
พระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ศิลปะสมัยอู่ทองอยุธยายุคกลาง
          อยุธยายุคกลาง  การปั้นพระพุทธรูปยุคนี้ได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัย มักทำวงพระพักตร์และพระรัศมีตามแบบสุโขทัย  แต่มีไรพระศกเส้นเล็กๆ ทำสังฆาฏิขนาดใหญ่ ชายสังฆาฏิตัดเป็นเส้นตรง  พระพุทธรูปทำจากปูนปั้น สลักหินและหล่อด้วยโลหะ ส่วนมากนิยมทำพระพุทธรูปปางมารวิชัยและพระอิริยาบถแบบต่างๆ ตามแบบสุโขทัย พระพุทธรูปนั่งที่มีขนาดใหญ่และถือเป็นแบบฉบับของพระพุทธรูปสมัยนี้คือ พระมงคลบพิตร อยุธยา นอกจากนั้นมักทำพระพุทธรูปขนาดกลาง มีฐานชุกชีสูง เช่น พระประธานพระอุโบสถวัดไชยวัฒนาราม อยุธยา และวัดพระพุทธบาท สระบุรี พระนอนที่สำคัญ คือ พระนอนที่วัดโลกยสุธา อยุธยา พระนอนที่วัดป่าโมกข์อ่างทอง และพระนอนที่สิงห์บุรี พระยืนที่สำคัญคือพระโลกนาถ ประดิษฐานอยู่ที่วิหารทิศตะวันออก (มุขหลัง) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามกรุงเทพมหานคร
          ลวดลายตกแต่งสถาปัตยกรรมที่สำคัญมีลายหน้าบันพระอุโบสถวัดราชบรรทม เป็นลายกนกขมวดเป็นก้นหอย ตรงกลางเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ซ้อนเป็นชั้น  ลายหน้าบันพระอุโบสถวัดพระพุทธบาท สระบุรี รูปนารายณ์ทรงครุฑ กนกเครือเถาล้อมรอบ  ทั้งองค์พระนารายณ์และครุฑท่าทางขึงขังทะมัดทะแมง  และบานประตูเจดีย์ ๓ องค์ วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ อยุธยา จำหลักรูปเทวดายืนถือพระขรรค์ ทรงเทริดเหนือเศียรเทวดา มีรูปคล้ายร่ม ในยุคนี้ไม่นิยมทำลวดลายประดับเจดีย์ คงลายปูนเกลี้ยงตั้งแต่ฐานถึงยอด
 
พระโลกนาถ ประดิษฐานอยู่ที่วิหารทิศตะวันออก (มุขหลัง)วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ศิลปะสมัยอยุธยา

อยุธยายุคปลาย
          อยุธยายุคปลาย ประติมากรรมพระพุทธรูปยุคนี้มีการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องแบบพระ-มหากษัตริย์ โดยมีอยู่ ๒ แบบคือ พระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่และพระพุทธรูปทรงเครื่องน้อยพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ที่มีชื่อเสียงมาก  คือพระประธานพระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุ อยุธยา
          ศิลปะการสลักไม้และปั้นปูนประดับพุทธสถานของสมัยอยุธยายุคปลายฝีมือถึงขั้นที่มีความงามสูงสุด ลวดลายทำเป็นกนกอ่อนพลิ้วซ้อนกันปลายกนกสะบัดปลายบิดไปมาราวกับธรรมชาติของเถาไม้และใบไม้ที่อ่อนไหว ลวดลายต่างๆเริ่มประดิษฐ์เป็นแบบแผนเฉพาะตัวของไทยมากขึ้น  ลายแกะไม้ที่สวยงามคือ ลายหน้าบันวิหารวัดธรรมาราม อยุธยา หน้าบันพระอุโบสถวัดใหม่เทพนิมิตรธนบุรี และหน้าบันศาลาการเปรียญวัดเชิงท่า อยุธยา เป็นต้น ส่วนลายปูนปั้นที่มีชื่อเสียงคือลายหน้าบันพระอุโบสถวัดเขาบันไดอิฐเพชรบุรี  ลายปูนปั้นที่ซุ้มวิหารหลวงวัดราชบูรณะอยุธยา และลายปูนปั้นที่ซากพระอุโบสถวัดภูเขาทอง  กรุงเทพมหานคร เป็นต้น
 
พระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ พระประธานพระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก  http://www.thaigoodview.com/node/72285?page=0%2C1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น