วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ลักษณะของวัฒนธรรมไทย



     ความหมายของวัฒนธรรมมีหลายอย่าง  เช่น  หมายถึงขนบธรรมเนียมประเพณี  สิ่งที่ดีงาม  สิ่งที่ได้รับการปรุงแต่งให้ดีแล้ว  หรือสิ่งที่ได้รับการยอมรับและยกย่องมาเป็นเวลานานแล้ว  เช่น  ค่านิยม  ความคิดเห็น  วิทยาการต่าง ๆ เป็นต้น
     วัฒนธรรมไทยในแต่ละท้องถิ่น  จะมีความคล้ายคลึงและแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ และยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  ทั้งนี้เป็นเพราะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม  เศรษฐกิจ  การเมืองการปกครอง  และการดำเนินชีวิตของคนไทยอยู่ตลอดเวลา
     ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมเก่าแก่สืบสานต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน  มีวัฒนธรรมหลักที่ถือว่า  เป็นวัฒนธรรมประจำชาติไทย  และแสดงให้เห็นถึงความเป็นไทย  ได้แก่
          1.  ศาสนา  คนไทยส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา  แต่ก็มิได้กีดกันผู้ที่นับถือศาสนาอื่นแต่อย่างใด
          2.  ภาษา  คนไทยมีภาษาและตัวอักษรไทย  ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงได้ประดิษฐ์ขึ้นในสมัยสุโขทัยเมื่อ พ.ศ. 1826
          3.  ประเพณีไทย  เป็นสิ่งที่แสดงถึงวิถีชีวิตของคนไทยที่เคยปฏิบัติสืบเนื่องกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ  และได้สืบทอดกันมาจนถึงลูกหลาน  ที่เรียกกันว่าขนบธรรมเนียมประเพณีนั่นเอง  เช่น  การไหว้  การเซ่นไหว้บรรพบุรุษ  เป็นต้น
     สังคมไทยประกอบด้วยผู้คนหลายเชื้อชาติ  ศาสนา  และสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ในแต่ละท้องถิ่นก็มีความแตกต่างกันออกไป  วัฒนธรรมของผู้คนจึงมีความแตกต่างกันออกไปในระดับต่าง ๆ ดังนี้
          1)  วัฒนธรรมในระดับภูมิภาคของสังคมไทย  แบ่งตามลักษณะทางภูมิศาสตร์  เป็น 4 ภาคใหญ่ ๆ ได้  ดังนี้
               (1)  วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคเหนือ  เป็นภูมิภาคที่มีเอกลักษณ์ที่มีความโดดเด่นในด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นของตน  เช่น  ประเพณีตานก๋วยสลาก  ประเพณีปอยหลวง  การกินขันโตก  พิธีสืบชะตาเมือง  เป็นต้น
               (2)  วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  (ภาคอีสาน)  เป็นศูนย์รวมวัฒนธรรมที่เก่าแก่  มีวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญ  เช่น  ประเพณีบุญบั้งไฟ  ประเพณีไหลเรือไฟ  ประเพณีผีตาโขน  ประเพณีแห่ปราสาทผึ้งและหมอลำ  เป็นต้น
               (3)  วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคกลาง  เนื่องจากอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา  จึงมีชีวิตผูกพันอยู่กับการเกษตรเป็นส่วนใหญ่  และมีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สำคัญ  เช่น  ประเพณีทำขวัญข้าว  การบูชาแม่โพสพ  การลงแขกเกี่ยวข้าวและลำตัด  เป็นต้น
               (4)  วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้  ประชากรมีความแตกต่างกันทางด้านศาสนาเป็นกลุ่ม ๆ มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมประเพณี  จึงมีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะภาค  เช่น  ประเพณีการชักพระ  ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ  การเต้นรองเง็ง  หนังตะลุง  และรำมโนราห์  เป็นต้น
          2)  วัฒนธรรมพื้นบ้านของสังคมไทย
               วัฒนธรรมพื้นบ้านเป็นวิถีชีวิตการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน  ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นจะสืบทอดกันมาด้วยการพูดจา  บอกเล่า  สั่งสอน  หรือทำให้ดูเป็นตัวอย่างเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวันและการรวมกลุ่ม  รวมพลังกันทำกิจกรรมต่าง ๆ  ที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันตามความเชื่อนั้น ๆ สามารถอธิบายได้ 4 ประเภท  ได้แก่
               (1)  มุขปาฐะต่าง ๆ เช่น  ตำนานหรือนิทานพื้นบ้าน  สุภาษิต  ที่ถือเป็นคติสอนใจการดำเนินชีวิต  คำพังเพย  ปริศนาคำทาย  เพลงพื้นบ้านและการละเล่นพื้นบ้านต่าง ๆ  ซึ่งมักจะเป็นเอกลักษณ์ของภูมิปัญญาชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น
               (2)  ความเชื่อ  ประเพณี  และพิธีกรรม  ความเชื่อมีทั้งความเชื่อดั้งเดิมที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมา  เช่น  การนับถือผี  เป็นต้น  และความเชื่อที่มีเหตุผลตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา  ปัจจุบันมักเป็นแบบผสมผสานร่วมกัน
               (3)  หัตถกรรมพื้นบ้าน  เป็นงานที่เกิดจากการสร้างสรรค์หรือประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันจากวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นของตน  ในแต่ละท้องถิ่นย่อมแตกต่างกันไป  ทั้งด้านการใช้วัสดุ  เทคนิคและการถ่ายทอดสืบต่อกัน  เช่น  งานจักสาน  งานถักทอ  งานปั้น  งานแกะสลัก  และงานวาดภาพ  เป็นต้น
               (4)  ภาษาไทยพื้นบ้าน  คนไทยทุกภาคส่วนใหญ่ใช้ภาษาไทยเป็นปกติ  แต่มีสำเนียงและการใช้คำแตกต่างกันมากน้อยแต่ละท้องถิ่น  ซึ่งอาจได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมใกล้เคียงด้วย  ภาษาไทยพื้นบ้านที่ใช้กันอยู่ในกลุ่มท้องถิ่นต่าง ๆ ได้แก่  ภาษาล้านนา  ภาษาไทยใหญ่  ภาษาไทยอีสาน  ภาษาไทยภูเขา  เป็นต้น
          วัฒนธรรมในระดับภูมิภาคและพื้นบ้านของไทยมีความสำคัญที่ชาวไทยทุกคนควรช่วยกันฟื้นฟู  ปรับปรุง  ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการพัฒนาของประเทศชาติ  เพื่อเป็นเอกลักษณ์คู่กับชาติไทยสืบไป
          วัฒนธรรมมาจากการสร้างสรรค์ของมนุษยชาติ  ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นย่อมมีความแตกต่างกันไปตามปัจจัยต่าง ๆ ดังนั้นเราจึงไม่ควรดูถูกวัฒนธรรมของชาติอื่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น