วันอาทิตย์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2555

วันที่ผีเริงร่า...ผีตาโขน



วันที่ผีเริงร่า...ผีตาโขน
คมฉาน  ตะวันฉาย...เรื่อง/ภาพ
kokkram@hotmail.com
     เสียงกร้องแกร๊งของหมากกะแหล่ง ที่ห้อยติดบั้นเอว ส่งเสียงดังยามเมื่อคนที่ถูกผูกพ่วงเดินไปมา และดังระงมเมื่อหมากกะแหล่งหลายสิบหลายร้อยลูกที่ดังประสานกันทั่วงาน    ผู้คนขวั่กไขว่  ทั้งนักท่องเที่ยวที่มาจากต่างถิ่น ทั้งคนในพื้นที่ที่ร่วมแรงร่วมใจกันแต่งกายเป็นผีตาโขน   เพื่อเข้าร่วมในงานบุญใหญ่ครั้งนี้   บรรยายกาศอย่างนี้ในหนึ่งปีถึงจะมีสักครั้ง สำหรับอำเภอเล็กๆ ที่อยู่   ท่ามกลางหุบเขาติดชายแดนเฉกเช่น   อำเภอด่านซ้ายของจังหวัดเลย
     คำว่า ผีตาโขน โดยตัวเนื้อแท้ของคำนี้  หากแยกออกเป็นคำๆ ก็จะได้ความหมายในตัว   แต่เมื่อมารวมกัน ก็จะงุนงงในที่มาที่ไปว่ามีที่มาจากอะไร  มีข้อสันนิษฐานหลากหลายและไม่พ้นทฤษฏี  เพื้ยนเสียง หรือ เสียงกร่อน  ตามที่มักพยายามอธิบายชื่อของสถานที่หรือประเพณีที่นิยมกันในบ้านเรา   ชื่อไหนที่นิยมกันมากก็กลายเป็นที่ยอมรับ ส่วนจะถูกต้องหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง   ผีตาโขนก็หาได้หลุดพ้นจากทฤษฏีนี้ไม่     ด้วยบ้างบอกเพี้ยนมาจากผีตาขนบ้าง  ผีตามคนบ้าง ซึ่งยากพิสูจน์ทั้งสิ้น
หากแต่ที่น่าสนใจกลับเป็นการละเล่นผีตาโขนอันอิงมากับศาสนาและความเชื่อ   โดยเชื่อว่าผีตาโขนเหล่านี้คืออนารยะชนที่เลื่อมใสในพระเวสสันดรและพระนางมัทรีเมื่อครั้งถูกขับออกไปอยู่ป่า บำเพ็ญเพียรจนบรรดาผีเหล่านี้เกิดศรัทธาให้ความเคารพนับถือ  เมื่อพระเจ้ากรุงสัญชัยและพระนางผุสดี ไปเชิญให้พระเวสสันดรและพระนางมัทรีเสด็จกลับเข้าเมืองบรรดา ผี เหล่านี้ จึงตามเสด็จเข้ามาส่ง     การเล่นผีตาโขนจึงมักที่จะจัดงานนี้ขึ้นในงานบุญพระเวสหรืองานฮีตเดือนสี่ ซึ่งถือกันว่าเป็นงานบุญใหญ่  หรือบางครั้งก็จะมีในช่วงงานบุญบั้งไฟบ้าง  ซึ่งอาจจะเรียกชื่อต่างกันออกไปบ้าง แต่ล้วนแล้วมีที่มาที่ไปไม่ต่างกันนัก
     แต่สำหรับด่านซ้าย   นอกจากจะเป็นประเพณีแล้วยังเป็นเทศกาลที่ประชาสัมพันธ์ที่ได้ผลเป็นอย่างยิ่ง ในทุกๆ ปี จะจัดงานแห่ผีตาโขนก่อนวันเข้าพรรษา และเพื่อเป็นการสะดวกแก่นักท่องเที่ยว งานจึงมักจัดในวันเสาร์-อาทิตย์ และเป็นที่รู้กันของนักท่องเที่ยวว่า เทศกาลผีตาโขน จะมีในอาทิตย์ก่อนวันเข้าพรรษา ของทุกปี   ถ้าจะมีการมาชุมนุมกันโดยมิได้นัดหมาย ก็คงมีงานผีตาโขนนี่อีกงาน
จุดหลักของงานแห่ผีตาโขนก็คือขบวนแห่ ที่ประกอบไปด้วย ผีตาโขนใหญ่ ที่คล้ายๆกับการเล่นหัวโตในขบวนแห่นาคของภาคกลาง โดยทำจากโครงไม้ไผ่  แล้วตกแต่งหน้าตาคล้ายคน  ส่วน ผีน้อย เป็นคนสวมชุดผีตาโขนที่จุดเด่นหลักคือหัวผี ที่มาจากส่วนประกอบ 2 ส่วนคือส่วนหัวที่ทำมาจากซึ้งนึ่งข้าวเหนียว ที่พับหักก้นขึ้นไปจนคล้ายหมวก นำมาต่อกับส่วนที่เป็นหน้าซึ่งทำจากวัสดุหลายอย่าง  เช่นกาบใบหมาก  กาบปลีมะพร้าวบ้าง  ส่วนจมูกที่งองุ้มทำจากไม้เนื้ออ่อน  แล้ววาดลวดลายให้โดดเด่นสะดุดตา ด้วยสีที่ฉูดฉาด    ส่วนเครื่องแต่งกายนั้นมักเย็บด้วยผ้าสีฉูดฉาด   นำเศษผ้ามาเย็บติดกัน เป็นริ้วเป็นพู่ ให้โดดเด่นสะดุดตา  แล้วยังถืออาวุธที่ทำจากไม้ อาจจะเป็นมีด ขวานแล้วผูกหมากกะแหล่งใส่เอว    เพียงแค่นี้ก็ครบองค์ประกอบของการเป็นผีตาโขนที่จะเข้าร่วมในพิธีได้แล้ว เดิมนั้นเมื่อพ้นช่วงงานไปหน้ากากผีตาโขนจะถูกนำไปทิ้งด้วยเชื่อกันว่าเป็นสิ่งไม่ดี แต่ในปัจจุบันความเชื่อนี้กลับเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
     คนที่จะมาเล่นผีตาโขนนั้นมีทุกเพศ ทุกวัย แต่ดูเหมือนว่าเด็กๆ ทุกคนในด่านซ้าย ดูจะตื่นเต้นเป็นพิเศษ ทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย  ครั้นได้สวมชุดผีตาโขนเข้า เดินไปทางไหนก็ล้วนเป็นจุดสนใจของผู้คนทั้งสิ้น  ลวดลายที่วาดไปบนหน้ากากของแต่ละคนที่ถูกซ่อนถูกเก็บไว้เป็นความลับถูกนำมาอวดในวันงาน  การเดินไปมาในงานให้ช่างภาพสะดุดตาและขอถ่ายภาพถือเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่   ไม่ว่าช่างภาพคนไหน อยากให้ผีตาโขนหยุดถ่ายภาพหรือให้ทำท่าทางอย่างไร ก็ล้วนถูกตอบรับเป็นอย่างดีโดยไม่มีแบมือขอตังส์หลังถ่ายภาพ   นี่จึงอาจเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของงานแห่ผีตาโขน ที่พอถึงวันงานทีไรก็เหมือนงานชุมนุมช่างภาพน้อยใหญ่ให้มาเจอะเจอกัน
     ขบวนแห่จะเป็นเรื่องเป็นราวเมื่อมีการตั้งแถว ถือป้ายโดยสาวงามเฉกเช่นงานแห่เทศกาลทั่วๆไปบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอด่านซ้าย  เมื่อขบวนพร้อม  ขบวนแห่ผีตาโขน ก็จะเดินไปยังวัดโพนชัย  ซึ่งอยู่ห่างไปราว 1 กม. ที่วัดแห่งนี้จะมีงานบุญรอท่าอยู่ที่วัด   ขบวนแห่ผีตาโขนจะเริ่มโดยด้านหน้าขบวนจะเป็นการละเล่นควายเทียมเกวียนบ้าง  ผีตาโขนใหญ่เดินโชว์ตัว  แล้วจึงเป็นขบวนของผีตาโขนน้อยที่วาดลวดลายกันเต็มที่  ขบวนแห่ไม่ได้มีอะไรเคร่งครัด ใครอยากจะออกหรือเข้าร่วมขบวนตอนไหนก็ไม่ว่ากัน  ขบวนจะไปสิ้นสุดที่วัดโพนชัย    หลังจากนั้น จึงจะเป็นพิธีทางศาสนาต่อไป
     ผีตาโขนปลุกชีพด่านซ้าย
     จุดสำคัญของงานแห่ผีตาโขนสำหรับนักท่องเที่ยวมีเพียงเท่านี้(แต่สำหรับคนด่านซ้าย จะมีเทศน์มหาชาติอันถือเป็นงานบุญใหญ่ไปจนถึงวันรุ่งขึ้นอีกวัน)  สิ้นสุดไม่เกินบ่ายโมงในทุกๆ ปี  แต่สำหรับผู้ที่เคยไปร่วมงานได้ไปสัมผัสถึงบรรยากาศของงานจะเห็นว่า  ทั้งอำเภอด่านซ้าย    คึกคักและมีชีวิตชีวาที่สุด   ผู้คนเดินกันขวั่กไขว่ทั้งตัวตลาด โดยเฉพาะถนนที่ขบวนแห่จะผ่าน  ความตื่นตาตื่นใจของบรรดาผีตาโขนที่วันนี้มีหน้ากากผีตาโขนสีสันสดใสเป็นเครื่องประดับ  และดูสะดุดตา เป็นที่จ้องจับของบรรดาช่างภาพและนักท่องเที่ยว   เพียงเท่านี้ ผีตาโขนตัวน้อยๆ ก็ประสบความสำเร็จแล้ว  ความสำเร็จที่เป็นที่สนใจของทุกๆ คน ภายใต้หน้ากากผีตาโขน แต่สำหรับอำเภอด่านซ้าย   ความสำเร็จนานัปที่ตามมานั้นมหาศาล
     อำเภอด่านซ้ายเป็นอำเภอเล็กๆ ท่ามกลางหุบเขา ติดชายแดนลาว โดยมีแม่น้ำเล็กๆ กั้น นอกจากพระธาตุศรีสองรัก  อันเป็นพระธาตุที่ศักดิ์สิทธิ์ของคนด่านซ้ายแล้วก็แทบจะไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป  แต่สำหรับวันที่มีงานแห่ผีตาโขน   ถนนแทบทุกสายที่เดินทางสู่ด่านซ้ายได้  จะคราคร่ำไปด้วยรถยนต์ที่นำพานักเดินทางมุ่งหน้ามายังอำเภอแห่งนี้   ถนนหน้าอำเภอที่จะเป็นถนนที่ขบวนผีตาโขนผ่านจะหนาตาไปด้วยนักท่องเที่ยวตั้งแต่ตีห้า     ริมถนนแทบทุกสายในตัวอำเภอจะมีรถยนต์จอดกันแน่น และเมื่อขบวนแห่ถึงวัดโพนชัย   เมื่อนั้นก็จะเกิดการจราจรที่ติดขัด เมื่อรถทุกคันล้วนแย่งกันบ่ายหน้าออกจากอำเภอด่านซ้าย สะท้อนให้เห็นภาพที่ชัดขึ้นว่า งานนี้มีคนมาร่วมงานมากมายเพียงใด
     งานใหญ่โต  คึกคัก  และเงียบเหงาภายในเวลาไม่ถึง 6  ชั่วโมง..!
     หลังจากที่ขบวนแห่ถึงวัดโพนชัย  ก็จะเหลือเพียงชาวด่านซ้ายที่ร่วมในงานบุญที่วัด  ถนนที่ก่อนหน้านั้นคราคร่ำไปด้วยบรรดาผีตาโขนและนักท่องเที่ยวที่เดินไปมา   เสียงจ้อกแจ้กจอแจของงานแห่อันยิ่งใหญ่แทบไม่เหลือร่องรอยไว้ให้เห็นหลังจากนั้น  ถนนในอำเภอด่านซ้ายก็จะกลับคืนสู่ความเงียบเหงาตามปกติ  กลับสู่บรรยากาศของอำเภอเล็กๆ ติดชายแดนอีกครั้งหนึ่ง    ในสายตาของผมกลับมองว่า   อำเภอด่านซ้ายประสบความสำเร็จในแง่การประชาสัมพันธ์แต่ยังขาดกิจกรรมต่อเนื่องที่จะตรึงคนให้อยู่ในอำเภอด่านซ้ายต่อ เพื่อให้นักท่องเที่ยวจับจ่ายใช้สอยในอำเภอ  เพราะหลังจากขบวนแห่เสร็จสิ้น ก็เหมือนผึ้งแตกรัง แทบไม่เหลือนักท่องเที่ยวในอำเภอ  ช่วงเวลา 6-7 ชั่วโมง ที่นักท่องเที่ยวเดินทางมายังด่านซ้ายจึงเป็นช่วงเวลานาทีทองที่สินค้าและบริการต่างๆได้รับการอุดหนุนเป็นอย่างดี
นับตั้งแต่ร้านอาหารต่างๆที่จะแน่นมากในช่วงที่ขบวนแห่เสร็จสิ้นและตรงกับมื้อเที่ยงพอดี  โรงแรมที่พักที่จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาพักหนาตาในคืนก่อนวันแห่ และก็จะว่างเปล่าไปอีกนาน   ร้านขายของที่ระลึกต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับผีตาโขนจะขายดีเป็นพิเศษ แม้กระทั่งหน้ากากผีที่บรรดาผีตาโขนตัวน้อยๆ บรรจงวาดบรรจงทำ  อาจจะกลายเป็นของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยวไปก็ได้ เช่นนี้แล้วคงไม่มีใครเอาหน้ากากไปทิ้งน้ำหลังเสร็จสิ้นขบวนแห่อีกแล้ว    แต่อานิสงฆ์กลับไปตกกับแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ใกล้เคียงกับด่านซ้าย  ที่นักท่องเที่ยวล้วนมีจุดหมายปลายทางที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นภูเรือ เชียงคาน เขาค้อ  ภูหินร่องกล้า  น้ำหนาว  ก่อนจะเดินทางกลับภูมิลำเนาในเย็นวันอาทิตย์
     ปรับกลยุทธฉุดนักท่องเที่ยว
     เสียดายที่อำเภอด่านซ้ายทำการประชาสัมพันธ์ได้ดีแล้ว ทั้งนักท่องเที่ยว  สื่อสารมวลชนหลากหลายสำนัก รายการทีวี ล้วนมุ่งหน้าสู่ด่านซ้ายเพื่อชมขบวนแห่ผีตาโขน  แต่เสียดายที่ไม่ได้ฉวยโอกาสนี้ไว้ ในฐานะที่ผมท่องเที่ยวเป็นอาชีพอยู่แล้ว   เลยขออุปโลกตัวเองเป็นกูรูอยากจะแนะนำอำเภอด่านซ้ายดังนี้..
     -ควรปรับวันงานที่เดิมจะจัดเสาร์-อาทิตย์ โดยมีขบวนแห่ในวันสาร์(อันที่จริงงานจะเป็น ศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ อย่างปี 2552 นี้จัด 26-28 มิถุนายน แต่วันที่ 26 จะเป็นวันโฮมคือคล้ายๆวันเตรียมงานหรือวันสุกดิบ วันแห่จะเป็นวันเสาร์ที่ 27 วันที่ 28 จะมีแต่การเทศน์ที่วัด) นักท่องเที่ยวที่ไปจากกรุงเทพ พอเลิกงานก็จะเดินทางกลางคืนวันศุกร์ไปถึงด่านซ้ายค่อนรุ่ง ดูขบวนแห่ตอนเช้า พอบ่ายก็เดินทางไปและพักที่อื่น  วันอาทิตย์บ่ายๆ จึงเดินทางกลับ  ซึ่งแบบนี้แทนที่ร้านค้า ร้านอาหาร ที่พักในด่านซ้ายจะได้เงินจากนักท่องเที่ยวบ้าง กลับไม่ได้อะไรเลย   คนที่เขามาเพื่อจะมาดูขบวนแห่ผีตาโขนเป็นหลัก  ส่วนที่ท่องเที่ยวอื่นคือผลพลอยได้   จึงควรปรับขบวนแห่ผีตาโขนมาเป็นวันอาทิตย์น่าจะดีกว่า เพราะนักท่องเที่ยวเอง แทนที่จะเดินทางไปด่านซ้ายตอนกลางคืนวันศุกร์ เพื่อให้ทันดูขบวนแห่เช้าวันเสาร์  ซึ่งแบบนี้จะเหนื่อยคนเดินทาง
แต่ถ้าเขาเดินทางเช้าวันเสาร์ จะไปถึงด่านซ้ายบ่ายๆ  เพื่อที่จะดูขบวนแห่เช้า นักท่องเที่ยวจำเป็นต้องพักที่ด่านซ้าย เพื่อที่เช้าๆจะได้ไม่ต้องเดินทางไกลเพื่อมาให้ทันขบวนแห่  เมื่อนักท่องเที่ยวมาพักที่ด่านซ้าย ทางอำเภอก็สามารถจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ต่างๆได้  หรือจะจัดเวที มีงานเลี้ยงอาหารเย็นแบบพื้นเมือง  โชว์วัฒนธรรมท้องถิ่นก็ได้ หรือตอนกลางคืนจะปิดถนนหน้าอำเภอ จัดเป็นถนนสายวัฒนธรรม ให้นักท่องเที่ยวเดินชทมวัฒนธรรมอุดหนุนสินค้าพื้นเมืองอะไรก็ได้   (ทุกวันนี้จัดซุ้มประชาสัมพันธ์ เช้าวันที่มีขบวนแห่ นักท่องเที่ยวเขาก็ไปสนใจขบวนแห่หมด ซุ้มประชาสัมพันธ์เลยไม่ค่อยมีคนสนใจ ยิ่งพอขบวนแห่เลิก นักท่องเที่ยวเผ่นออกจากด่านซ้าย ซุ้มประชาสัมพันธ์ยิ่งไม่มีคนดู)
     -เมื่อมีนักท่องเที่ยวมาพักเพื่อที่จะรอชมขบวนแห่ตอนเช้า อาจจะจัดให้มีที่พักแบบโฮมสเตย์ ให้นักท่องเที่ยวพักบ้านชาวบ้านด้วย  ในระหว่างนี้ แต่ละบ้านก็จะทำหน้ากากผีตาโขน นักท่องเที่ยวที่มาพัก ก็จะได้ร่วมทำหน้ากาก หรือจะเอาหน้ากากเข้าร่วมในขบวนแห่ก็ได้ อีกทั้งหน้ากากที่เขาทำเขาจะเอากลับเป็นที่ระลึกก็ได้  แบบนี้จะเป็นการท่องเที่ยวที่ให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าร่วมในกิจกรรมท่องเที่ยวได้    นักท่องเที่ยวก็จะเกิดความประทับใจและอยากมาร่วมงานอีก  (ในขณะที่ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจะแค่มาเห็นขบวนแห่  ถ่ายรูป แล้วก็กลับ  แล้วถ้าลองทำการสำรวจนักท่องเที่ยวที่เคยไปงานที่มีขบวนแห่ทั้งหลายเช่น แห่เทียนเข้าพรรษาที่อุบล  แห่บั้งไฟที่ยโสธร ฯลฯ   นักท่องเที่ยวมักจะไม่ค่อยไปซ้ำ เพราะรูปแบบจะเหมือนกันทุกปี  แต่ถ้าให้เขาร่วมในกิจกรรม โดยเฉพาะชาวต่างชาติจะชื่นชอบการมีกิจกรรมในการท่องเที่ยวมาก)
     -นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติหรือที่ไม่มีรถส่วนตัวมา ให้จัดเป็นทริพเล็กๆใน 1 วันให้เขา โดยอาจจะขายบัตรทัวร์วัฒนธรรมหรือทัวร์ธรรมชาติในบริเวณต่างๆที่อยู่ใกล้เคียงกับด่านซ้ายก็ได้ แล้วพาเขากลับมาพักในด่านซ้าย เพื่อให้มาร่วมงานตอนกลางคืนและตรึงให้เขารอดูขบวนแห่ตอนเช้า  โดยอาจจะจัดการเรื่องการเดินทาง  การท่องเที่ยว  ที่พัก อาหารให้เขาจนจบรายการก็ได้  
     อย่าลืมว่าหลักของการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวคือ ให้นักท่องเที่ยวอยู่กับเราให้นานที่สุด  เขาก็จะจับจ่ายมากที่สุด  คนมาเที่ยวบ้านเราแล้วไม่ได้อะไรจากเขาสักอย่าง แบบนี้เสียดายโอกาส
     ระวัง...ประเพณีที่ผิดเพี้ยน
     ผมไปดูงานผีตาโขนมา 3 ครั้ง  เห็นสิ่งที่ขัดตาหลายอย่างเช่น   ขบวนแห่ที่ผีตาโขนบางตน โดยเฉพาะผู้ใหญ่   มักแสดงอาการส่อไปทางลามก เช่น การถืออาวุธที่มักทำเป็นปลัดขิกอันใหญ่ พอเจอสาวๆ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ   ทำท่าไปชักเข้าชักออกใส่เขาแบบนี้ดูออกจะไม่งาม   เพราะขบวนผีตาโขนจัดมาในงานบุญ  เมื่อเป็นงานบุญก็ควรแสดงตนให้มันสมเป็นงานบุญ  จะได้เป็นที่กล่าวขานในทางที่ดีของคนต่างถิ่น อย่าทำให้วัฒนธรรมเพี้ยนไปด้วยการกระทำที่เราอ้างงานบุญมาบังหน้าแล้วแสดงอาการไม่เหมาะสมออกมา   อีกทั้งบรรดาผีผู้ใหญ่ที่มักต้องเมาสุราจึงจะออกมาร่วมขบวน  แห่ขบวนไป กระดกขวดเหล้าไป  ดูก็ไม่งามนัก   สมควรที่ทางอำเภอหรือผู้ที่เกี่ยวข้องควรจะไปปรับปรุง  หนึ่งปีมีงานนี้งานเดียวที่คนเขามาเที่ยวด่านซ้าย ลองดูสิว่าจะรักษาไว้ได้ไหม    แต่สำหรับผีเด็กๆ นั้นน่ารักมาก สังเกตดูเด็กๆ นักเรียนในด่านซ้านจะแต่งเป็นผีตาโขนเด็กๆ กัน ซึ่งนักท่องเที่ยวและช่างภาพก็ชอบกันเสียด้วย
..
..
     เที่ยวที่ไหนใกล้ด่านซ้าย
     ในการจัดงานที่ผ่านๆ มา ขบวนแห่จะเสร็จในเที่ยงวันเสาร์ คนที่ไปเที่ยวในวันหยุดจะมีเวลาว่าง 1 วันครึ่ง    จึงอยากแนะนำเส้นทางท่องเที่ยวต่อเนื่องจากด่านซ้ายคือ....
     * เส้นทางที่หนึ่ง  ด่านซ้าย-อุทยานฯ นาแห้ว
     จากด่านซ้าย มุ่งหน้าไปทางนาแห้ว   ถึงอำเภอนาแห้วแวะเที่ยวธารสวรรค์ (อยู่หลังโรงเรียนนาแห้ววิทยา) แล้วมุ่งหน้าอุทยานฯนาแห้ว  เที่ยวน้ำตกคลิ้ง น้ำตกช้างตก  น้ำตกวังตาด  (น้ำตกทั้ง 3 แห่งอยู่ริมถนน เดินไม่มาก) ไปพักแรมที่อุทยานฯนาแห้ว  (มีร้านอาหาร ที่กางเต็นท์ บ้านพัก ไว้บริการ )  เช้าวันอาทิตย์ เที่ยววนไปทางเนิน 1408 ,1200  ภูสวนทราย เพื่อชมทิวทัศน์ไทย-ลาว  แล้วแวะน้ำตกตาดเหือง   ไหว้พระธาตุดินแทน  เข้านาแห้วระหว่างทางกลับด่านซ้าย แวะเที่ยววัดโพธิ์ชัย มีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม รวมทั้งจิตรกรรมฝาผนังที่น่าแวะเข้าไปชมมาก    กลับเข้าด่านซ้าย แวะไหว้พระธาตุศรีสองรัก แล้วเข้าหล่มสัก เดินทางเข้ากรุงเทพ  ทางลาดยางตลอดสาย เดินทางสะดวก
     * เส้นทางที่สอง  ด่านซ้าย-ภูเรือ-น้ำตกปลาบ่า-น้ำตกสองคอน-เกษตรที่สูงภูเรือ-อุทยานฯ ภูเรือ
      จากด่านซ้าย มุ่งหน้าทางภูเรือ เลี้ยวเข้าน้ำตกปลาบ่า แล้วไปน้ำตกสองคอน   (น้ำตกปลาบ่าอยู่ใกล้ลานจอดรถ แต่น้ำตกสองคอนจะต้องเดินราว 500 ม. น้ำตกทั้งสองแห่งสวยงาม มีน้ำมาก)  แล้วไปพักแรมที่เกษตรที่สูงภูเรือ ที่มีไม้ดอกไม้ประดับ ตกแต่งพื้นที่สวยงาม   มีลานกางเต็นท์  บ้านพัก ร้านอาหาร ไว้บริการ   เช้าในอาทิตย์กลับเข้าภูเรือ เที่ยวอุทยานฯภูเรือ ช่วงนี้ดอกเปราะภูกำลังบาน   แล้วจึงกลับกรุงเทพ  (หรือจะเปลี่ยนจากอุทยานฯภูเรือ เป็นไปชมเปราะภูบานบนภูหลวงทางหน่วยฯ โคกนกกระบาก็ได้ แต่ภูหลวงรถเก่งจะขึ้นลำบาก)
     * เส้นทางที่สาม ด่านซ้าย-ภูทับเบิก-หล่มสัก
     เส้นทางสายนี้ออกจากด่านซ้าย ไปหล่มสัก แล้วไปหล่มเก่า เลี้ยวขึ้นภูหินร่องกล้าทางหล่มเก่า ไปพักแรมที่ภูทับเบิก ชมทะเลหมอกยามเช้าบนยอดภูทับเบิก (มีลานกางเต็นท์  ที่พัก  ร้านอาหารบริการ หรือถ้ามีเวลามากกว่านี้จะไปเที่ยวภูหินร่องกล้าแล้วพักแรมที่ภูหินร่องกล้าเพิ่มอีกคืนก็ได้ ช่วงนี้ดอกไม้บนภูหินร่องกล้าหลายชนิดกำลังบานสะพรั่ง  แต่ไม่แนะนำเส้นทางนี้สำหรับรถเก๋งหรือผู้ที่ไม่ชำนาญทาง เพราะเส้นทางขึ้นเขาชัน คดโค้งและสภาพทางไม่ดี
     * เส้นทางที่สี่ ด่านซ้าย-ภูเรือ-ภูหลวง-เมืองเลย-กุ้ยหลินเมืองไทย-น้ำตกตาดฮ้อง-ชุมแพ
     จากด่านซ้าย แวะเที่ยวภูเรือ-ภูหลวง แล้วหาที่พักในภูเรือหรือจะเข้าไปพักในเมืองเลยก็ได้  เช้าวันอาทิตย์ ไป อ.หนองหิน เข้าไปเที่ยวสวนหินผางามหรือกุ้ยหลินเมืองเลย    แล้วมาแวะเที่ยวน้ำตกตาดฮ้องของ อช.ภูกระดึง   ถ้ายังมีเวลาจะแวะเที่ยวน้ำตกพลาญทอง ของอุทยานฯภูผาม่านก็ได้(ใช้ตั๋วอันเดียวกับที่เข้าไปเที่ยวน้ำตกตาดฮ้อง)  ช่วงนี้น้ำตกทั้งสองแห่งกำลังสวย แล้วเข้าชุมแพ เดินทางกลับ
     ** ไม่แนะนำให้ไปเที่ยวแก่งคุดคู้ช่วงนี้ เพราะน้ำมาก ท่วมแก่งหมด ไปก็เห็นแต่แม่น้ำโขง แต่ถ้าตั้งใจไป ก็ไม่ว่ากันครับ
     ** สอบถามวัน/เวลา การจัดงานผีตาโขนได้ที่ ที่ว่าการอำเภอด่านซ้าย   โทร. 042-891-266..
................................................................................
*** ไปให้รู้จัก   แล้วจะรักเมืองไทย ***



ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก คมฉาน_ตะวันฉาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น